วันอาทิตย์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ธรรมของเยาวชนเริ่มที่...บ้าน


ผลร้ายของการทิ้งบ้านต่อศีลธรรมของเยาวชน

เมื่อพูดถึงการทิ้งบ้าน  ก็คงมีลักษณะคล้ายกับพูดถึงปัญหาของครอบครัว  ตามปรกติมนุษย์เรา จะรักบ้านหรือถิ่นฐานของตน  ถ้าไม่มีเหตุเภทภัยร้ายแรงจริง ๆ ก็คงไม่อยากจากบ้านไป  ในคัมภีร์พุทธศาสนา พูดถึงเหตุการณ์ทิ้งบ้านอยู่ ๒-๓ กรณี เช่นกรณีเกิดอหิวาตกโรค ผู้คนกลัวตายเชื่อว่า ต้องพังฝาเรือนหนีไป จึงจะรอด จึงทิ้งบ้านไป ความอดอยากยากแค้น ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้คนทิ้งถิ่นฐานของตน และกรณีเรื่องค่านิยมผิด ๆ แม้เรื่องชูชก จากเมียสาวอมิตตา ไปขอกัณหาและชาลี สองกุมาร มาเป็นทาส  ก็พอเข้าประเด็นนี้ได้  การจากบ้านหรือถิ่นฐานเดิมของตนเองจะด้วยเหตุผลใดก็ตามจัดว่า เป็นความพลัดพราก  ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นทุกข์ประเภทหนึ่ง (ปิเยหิ วิปฺปโยโค ทุกฺโข) ปรากฏการณ์ของคนทิ้งบ้าน ในสังคมไทยปัจจุบัน  นอกจากก่อให้เกิดปัญหาแก่ถิ่นฐานเดิมของตนคือขาดพลังคน  ชนบทอ่อนแอ เงียบเหงา และก่อให้เกิดความแออัดยัดเหยียด คือสลัมในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ ๆ เกิดการแย่งที่อยู่อาศัย  อากาศ  และถนนหนทางกันแล้ว  ยังก่อให้เกิดปัญหาความไม่มั่นคงแก่ครอบครัว  และผลการกระทบ มาถึงปัญหาเรื่อง ศีลธรรมของเยาวชนของชาติ อีกด้วย ข้อเท็จจริงและตัวเลขได้บอกเราว่า เด็กกำพร้าเร่รอน และด้อยโอกาส ตามวัด และสถานสงเคราะห์เด็กต่าง ๆ ล้วนมีปัญหาเรื่อง ครอบครัว คือพ่อหรือแม่ หรือทั้งสองตาย หย่าร้าง  หรือไม่ก็ไปทำมาหากินในเมืองใหญ่หรือต่างประเทศ  กล่าวให้กระชับเข้ามา  ถ้าครอบครัวไม่ปรกติ  ขาดพ่อแม่หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง  เด็กต้องอยู่กับปู่ย่า หรือตายายแก่ ๆ คงจะหวังผล การถ่ายทอดศีลธรรม–ศาสนา หรือหวังให้เด็กเหล่านี้เจริญเติบโตขึ้น  อย่างเป็นบุคคลสมบูรณ์คงยาก  บางคนอาจก่อปัญหาแก่สังคม  บางคนแม้ไม่ก่อปัญหาก็อาจเป็นภาระแก่สังคม  ส่วนผู้จะเติบโตช่วยมาช่วยตนเองได้ และทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ แก่สังคม คงมีปริมาณน้อยลง  กระบวนการถ่ายทอดศีลธรรมศาสนา ก็คงล้มเหลวหรือหวังผลอะไรได้ยาก  ถ้าคนทิ้งบ้าน–ถิ่นฐานของตัวเอง หรือครอบครัวแตกแยก  ขาดความรักความอบอุ่น

ที่มา
http://www.khonnaruk.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น