ผู้ว่าฯ กทม.ประกาศอพยพ "แขวงบางไผ่ เขตบางแค" เกรงน้ำจะเข้ามาถึงถนนเพชรเกษมภายในคืนนี้ หรือพรุ่งนี้(1 พ.ย.) จึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ยันเปิดประตูคลองสามวาได้แค่ 80 ซม.เท่านั้น ถ้าจะเปิด 1 ม.นายกฯ ต้องลงลายลักษณ์อักษรมาถึง...
เมื่อวันที่ 31 ต.ค. ที่ศูนย์ก่อสร้าง และบูรณะ 4 เขตบางแค ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ขณะนี้พื้นที่ในเขตบางแคมีน้ำท่วมสูงมาก กทม.จึงตัดสินใจประกาศให้แขวงบางไผ่ เขตบางแค เป็นพื้นที่อพยพอีกแห่งหนึ่ง เนื่องจาก กทม.เกรงว่าน้ำจะเข้ามาถึงถนนเพชรเกษม เขตหนองแขม ภายในคืนนี้ หรือในวันที่ 1 พ.ย. จึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
สถานการณ์น้ำล่าสุดบริเวณหมู่บ้านเสนานิเวศน์ ภายในซอยเสนานิคม เขตลาดพร้าว น้ำได้ผุดจากท่อระบายน้ำเอ่อท่วมถนนภายในหมู่บ้านแล้ว โดยจุดที่ต่ำนั้นระดับน้ำสูงถึงประมาณ 20 ซ.ม. โดยชาวบ้านคนหนึ่งเล่าว่า น้ำได้เริ่มเอ่อจากท่อระบายน้ำขึ้นมา ในช่วงเช้าที่ผ่านมา จากนั้นก็เพิ่มปริมาณสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน ที่บริเวณถนนเกษตร-นวมินทร์ ช่วงบริเวณใต้สะพานกลับรถบางบัวนั้น น้ำจากคลองบางบัวได้เอ่อล้นเข้าท่วมบริเวณดังกล่าว สูงประมาณ 40-50 ซ.ม. ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้นำแผงเหล็กมาวางกั้นเพื่อไม่ให้รถผ่านเข้าไปกลับรถได้แล้ว เนื่องจากระดับน้ำสูงอย่างไรก็ตาม ชาวบ้านที่อยู่ภายในบริเวณนี้และใกล้เคียง ต่างพากันออกมาสังเกตการณ์ระดับน้ำ กันอย่างต่อเนื่องรวมไปถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.โคกคราม ที่ออกมาตรวจตราระดับน้ำ และความเรียบร้อยของรถยนต์ที่ประชาชนนำมาจอดหนีน้ำบนสะพานข้ามคลองดังกล่าว
ขณะที่ นายบพิตร แสงแก้ว ผอ.เขตลาดพร้าว กล่าวถึงสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่เขตลาดพร้าว ว่า ขณะนี้ทางเขต ยังต้องเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นพื้นที่เสี่ยงที่คาดว่าจะมีน้ำไหลทะลักเข้าท่วม โดยทางเขต ได้ซ่อมเสริมแนวคันกั้นน้ำเพื่อสมบูรณ์แข็งแรงยิ่งขึ้น พร้อมเตรียมเครื่องสูบน้ำไว้ 3 เครื่อง เพื่อระบายน้ำออก หากสถานการณ์รุนแรง ก็คงต้องเคลื่อนย้ายประชาชนออกจากพื้นที่โดยเร่งด่วน ทางเขตได้เตรียมการ โดยมีศูนย์พักพิงใน 6 โรงเรียน ได้แก่ ร.ร.วัดลาดพร้าว ร.ร.วัดลาดปลาเค้า ร.ร.เทพวิทยา ร.ร.คลองทรงกระเทียม ร.ร.เพชรถนอม และ ร.ร.ลอยสายอนุสรณ์ ซึ่งทางเขตได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเตรียมความพร้อมไว้ตลอดเวลา
น้ำล้นทะลักเข้าถนนวิภาวดีรังสิตเลนคู่ขนาน และข้ามเข้ามาถึงถนนวิภาวดีรังสิตขาเข้าแล้ว 1 เลน หน้าสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรื่อยมาจนถึงจุดตัดระหว่างถนนงามวงศ์วานและวิภาวดีรังสิต คาดเช้านี้การจราจรติดขัดอย่างหนัก เนื่องจากระดับน้ำสูงพอสมควร...
เมื่อเวลา 05.00 น. วันที่ 31 ต.ค. ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ เดินทางไปสำรวจสถานการณ์น้ำบริเวณถนนวิภาวดีรังสิต พบว่าที่สถานีสูบน้ำที่ 12 คลองบางเขน (ขาเข้าทิศเหนือ) ของสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร มีน้ำจากคลองหน้าโรงงานยาคูลท์ ไหลทะลักออกมายังถนน เนื่องจากมีการสูบน้ำจากคลองหน้าโรงงานซึ่งอยู่ติดกับถนนวิภาวดีรังสิตลงสู่คลองบางเขนในขณะนี้
และเมื่อข้ามคลองบางเขนมาหน้าสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติก็พบว่า มีน้ำล้นออกมาบนถนนวิภาวดีรังสิตช่องทางคู่ขนาน ผ่านหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรื่อยมาจนถึงหน้าโรงพยาบาลวิภาวดี ระดับสูงประมาณ 20 เซนติเมตร นอกจากนี้ น้ำยังได้เอ่อล้นออกมายังช่องทางด่วนแล้ว 1 เลน ทำให้รถยนต์ที่วิ่งผ่านต้องชะลอความเร็ว และวิ่งได้อย่างช้าๆ ขณะที่รถจักรยานยนต์ต้องหยุดวิ่ง เนื่องจากน้ำได้เข้าท่อไอเสีย และบางคันต้องหนีน้ำจากถนนคู่ขนานออกมาวิ่งในช่องทางด่วนแทน
อย่างไรก็ตาม คาดว่าการสัญจรในบริเวณดังกล่าวในช่วงเช้าวันนี้ ซึ่งเป็นวันทำงานวันแรก อาจจะต้องประสบปัญหาเรื่องน้ำท่วมขังบริเวณดังกล่าวอย่างแน่นอน เนื่องจากถนนเลนซ้ายสุดน้ำจะสูงกว่าปกติ ทำให้รถทุกคันต้องวิ่งเบี่ยงขวาที่น้ำไม่มากนัก เช่นเดียวกับจุดกลับรถหน้าโรงพยาบาลวิภาวดี ช่วงนี้มีปริมาณน้ำมากที่ท่วมขังอยู่บนถนน รถที่มาจากเส้นทางเกษตร-นวมินทร์ เพื่อออกถนนวิภาวดีรังสิต อาจจะต้องประสบปัญหาด้วยเช่นกัน.
น้ำทะเลหนุนเจ้าพระยาวันนี้สูงสุด2.5ม.
กรมอุทกศาสตร์คาดน้ำทะเลหนุนเจ้าพระยาสูงสุดวันนี้ช่วง11.30น.ที่ระดับ2.5 เมตร กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ รายงานว่า น้ำทะเลหนุนแม่น้ำเจ้าพระยาสูงสุดวันนี้ที่หน้ากองบัญชาการกองทัพเรือ เวลา 11.30น.อยู่ที่ระดับ 2.5เมตร ขณะที่ก่อนหน้านี้ เมื่อเวลา 04.30น. น้ำลงเต็มที่อยู่ที่1.53 เมตร เวลา 15.23น. น้ำลงเต็มที่ 2.20 เมตร และเวลา 19.53น. น้ำขึ้นเต็มที่ 2.30 เมตร
รองผู้ว่า คาด 20 เขตชั้นในกรุงเทพ ไม่ท่วม
นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในคลองสองขณะนี้มีแนวโน้มดีขึ้น หลังมีการรื้อถอนประตูระบายน้ำคลอง 9 10 11 12 และ 13 รวมถึงกรมชลประทานได้ติดตั้วเพิ่มเครื่องสูบน้ำที่สถานีสูบน้ำคลองหกวาสายล่างที่คลอง 13 เพื่อเร่งระบายลงสู่แม่น้ำบางประกงกว่าวันละ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้นจึงคาดว่าอีก 5 วัน ระดับน้ำคลองหกวาจะลดลงเหลือ 2 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง
จากแนวทางดังกล่าว จะส่งผลให้พื้นที่ประมาณ 20 เขตในกรุงเทพมหานคร มีแนวโน้มที่น้ำจะไม่ไหลเข้าท่วมพื้นที่ ได้แก่ เขตพื้นที่เศรษฐกิจและพื้นที่ที่ไม่ติดกับริมคลอง อาทิ เขตดินแดง พญาไท บึ่งกุ่ม บางซื่อ สะพานสูง วัฒนา ประเวศ บางกะปิ สาทร ทุ่งครุ และราชเทวี เป็นต้น
อัพเดทน้ำท่วม 30 ตุลาคม 54
นายกฯ ไม่ประกาศวันหยุดเพิ่ม บอกไม่มีประโยชน์ หวั่นผลกระทบภาพรวม
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เผยภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษ ( 30 ตุลาคม 2554) ว่า จะยังไม่ประกาศวันหยุดเพิ่ม เนื่องจากเกรงกระทบภาพรวม และเห็นว่าไม่มีประโยชน์อะไรโดยสั่งหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนขอให้พิจารณาวันหยุดแก่พนักงานที่ประสบภัยน้ำท่วมได้โดยไม่ถือเป็นวันลาแทน ส่วนกรณีที่มีข่าวว่าของบริจาคประชาชนถูกทิ้งเต็มศปภ.ดอนเมือง หลังย้ายศุนย์นั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ยังไม่ทราบเรื่องแต่จะสั่งให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบอีกครั้ง
เพื่อให้คนเราเหล่านี้สามารถเข้าไปแก้ปัญหาของครอบครัวได้ส่วนกรณีที่มีข่าวว่าของบริจาคประชาชนถูกทิ้งเต็มศปภ.ดอนเมือง หลังย้ายศุนย์นั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ยังไม่ทราบเรื่องแต่จะสั่งให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบอีกครั้ง ยืนยันว่า มีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาในเรื่องการเบิกจ่ายใช้ของบริจาค ทุกอย่างไม่มีใครเก็บไว้ เพราะสิ่งเหล่านี้ต้องนำไปช่วยเหลือประชาชน และได้นำส่งไปช่วยเหลือประชาชนจริงๆ ซึ่งอาจมองว่าไปไม่ทั่วถึงเพราะตรงนี้อยู่ที่ความต้องการแต่ละพื้นที่ด้วย
กทม. สั่งอพยพด่วน ประชาชน 5ริมคลอง
เมื่อเวลา 11.00 น. ที่ผ่านมา ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้แถลงว่า กทม.ได้ลงนามประกาศให้ แขวงฉิมพลี แขวงตลิ่งชัน แขวงบางระมาด เขตตลิ่งชัน เป็นเขตเฝ้าระวังพิเศษ และจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ตามขอให้ประชาชนที่อาศัยในแขวงฉิมพลี แขวงตลิ่งชัน แขวงระมาด เขตตลิ่งชัน เตรียมพร้อมในการอพยพทุกขณะ เนื่องจากน้ำเหนือได้ไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่กทม.อย่างต่อเนื่อง ส่วนประชาชนในพื้นที่ริมสองฝั่งคลองทั้ง 5 สายประกอบด้วยคลองเปรมประชาในเขตหลักสี่, คลองลาดพร้าวในเขตลาดพร้าว เขตจตุจักร, คลอง 2 ในเขตบางเขน, คลองถนนในเขตบางเขน และคลองบางบัวในเขตบางเขน ขอให้ประชาชนในจุดดังกล่าวอพยพไปยังศูนย์พักพิงที่กรุงเทพมหานครจัดเตรียมไว้ให้ เนื่องจากขณะนี้น้ำได้เพิ่มระดับสูง
ม.เกษตร พร้อมอพยพ คาดน้ำท่วมเต็มพื้นที่
ม.เกษตรฯ เตรียมอพยพแล้ว คาดน้ำท่วมเต็มพื้นที่แน่ ขณะทางด้าน ศปภ.เร่งขนย้ายของบริจาคออก..
วันที่ 30 ต.ค. เมื่อเวลา 12.45 น. สถานการณ์น้ำท่วมภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่เริ่มมีน้ำเอ่อท่วมถึงตั้งแต่ช่วงเช้า ล่าสุดผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อช่วง 12.45 น.ที่ผ่านมาว่า สภาพภายในมหาวิทยาลัยเริ่มมีน้ำท่วมบางจุดแล้ว โดยเฉพาะที่โรงสูบน้ำ ซึ่งถือว่าน้ำท่วมสูงสุดประมาณ 30 ซม. ขณะที่ในส่วนของผู้ประสบภัยที่มหาวิทยาลัยรับไว้นั้นขณะนี้เหลืออยู่ประมาณ 650 คน ซึ่งยังพักอยู่ที่อาคารหอพักนิสิตมหาวิทยาลัย แต่ล่าสุดมหาวิทยาลัยมีนโยบายให้อพยพผู้ประสบภัยทั้งหมดออกจากพื้นที่มหาวิทยาลัยแล้ว เนื่องจากประเมินว่าภายใน 1-2 วันนี้น้ำจะเข้าท่วมภายในมหาวิทยาลัยจนหมด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมยานพาหนะเพื่อขนย้ายผู้อพยพ
อย่างไรก็ตาม แผนการรองรับสถานการณ์นี้ มหาวิทยาลัยได้เตรียมมาก่อนหน้านี้ 1-2 วันแล้ว โดยได้ขนย้ายเครื่องมือเครื่องใช้ อุปกรณ์ รวมถึงหนังสือต่างๆ ขึ้นสู่ที่สูงหมดแล้วขณะที่ทางด้าน ศปภ.นั้น พล.ต.ท.พงศพัศ พงษ์เจริญ โฆษก ศปภ. กล่าวถึงเรื่องการจัดการอาคาร ศปภ.เก่าที่ท่าอากาศยานดอนเมือง โดยระบุว่าวันนี้จะเป็นวันสุดท้ายที่รถยนต์สามารถเดินทางเข้าถึงท่าอากาศยานได้ ซึ่งจะรีบทำการขนย้ายเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆที่ได้รับบริจาคมาออกให้หมด ส่วนที่มีข้อสงสัยว่าสิ่งของบริจาคตกค้างอยู่จำนวนมากนั้น พล.ต.อ.พงศพัศ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ต้องตรวจสอบการบริหารจัดการของผู้เกี่ยวข้องกับการกระจายข้าวของที่ได้รับบริจาคมา ซึ่งตนเองตอบไม่ได้ว่าใครเป็นผู้ดูแลเรื่องนี้
ชาวบ้านรื้อคันกั้นน้ำวัดนาวง น้ำทะลักคลองประปา
ถนนแจ้งวัฒนะ เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 54 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังเกิดปัญหาประชาชนรื้อคันกั้นน้ำบริเวณวัดนาวง ดอนเมือง ส่งผลให้ในช่วงเช้าวันนี้ (30 ต.ค.) น้ำได้ทะลักเข้ามาในคลองประปา ล้นออกสู่ถนนแจ้งวัฒนะ ทำให้มีน้ำท่วมตั้งแต่บริเวณสี่แยกสะพานข้ามคลองประปาต่อเนื่องถึงด้านหน้าโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ โดยน้ำที่ไหลเข้าท่วมขังสูงประมาณ 40 ซม. ขณะที่ซอยแจ้งวัฒนะ 14 บริเวณหน้าปากซอยกลับมามีน้ำท่วมขังสูง 40 ซม.เช่นกัน ทำให้สน.ทุ่งสองห้องต้องนำเรือที่จากเทศบาลเมืองมุกดาหารมารับส่งประชาชน เนื่องจากรถบรรทุกของทหารใช้ความเร็วได้ช้าลง เนื่องจากระดับน้ำภายในหมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ 1 และหมู่บ้านจัดสรรอีกหลายแห่งภายในซอยแจ้งวัฒนะ 14 ระดับน้ำสูงเกินกว่า 1 เมตรแล้ว
ทั้งนี้ หากน้ำยังทะลักเข้าคลองประปาอีกต่อเนื่อง 1 ชั่วโมง คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการจ่ายน้ำประปาฝั่งพระนคร
ดุสิตโพลระบุ ประชาชนส่วนใหญ่สับสนต่อการให้ข้อมูลน้ำท่วมของภาครัฐ เมื่อเกิดน้ำท่วม ร้อยละ 68.07 ไม่คิดจะอพยพ เพราะไม่อยากทิ้งบ้าน และกลัวโจรแมวน้ำ ขณะที่ชาวบ้านมั่นใจ "ทหาร-สื่อ" ให้การช่วยเหลือ...
"สวนดุสิตโพล" มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชน ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียงที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วม ทั้งผู้ที่พักอาศัยในศูนย์พักพิง และตามบ้านเรือนต่างๆ จำนวน 2,136 คน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เมื่อถามว่า ประชาชนคาดคิดมาก่อนหรือไม่ว่า จะมีน้ำท่วมใหญ่ในเขตกรุงเทพฯ ? ส่วนใหญ่ ร้อยละ 37.83 ไม่คาดคิด เพราะกรุงเทพฯ ถือเป็นเมืองหลวง และเขตเศรษฐกิจ น่าจะป้องกันได้ ฯลฯ ขณะที่ร้อยละ 33.57 ไม่แน่ใจ เพราะไม่ได้รับข้อมูลที่แท้จริง บางฝ่ายก็ว่าจะท่วม บางฝ่ายก็ว่าจะไม่ท่วม ฯลฯ และร้อยละ 28.60 คาดว่าจะท่วม เพราะมีปริมาณน้ำเป็นจำนวนมาก และเกิดการท่วมในพื้นที่ต่างจังหวัดแล้ว ซึ่งกรุงเทพฯ เป็นที่ลุ่ม มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านฯลฯ ทั้งนี้หากน้ำท่วม ประชาชนร้อยละ 68.07 คิดว่า จะไม่อพยพ เพราะไม่อยากทิ้งบ้าน กลัวโจรขโมย, คิดว่าคงท่วมไม่มาก อยู่ที่บ้านน่าจะสบายกว่า, การอพยพเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยุ่งยากฯลฯ ขณะที่ร้อยละ 21.36 ไม่แน่ใจ ขอดูระดับน้ำก่อน และร้อยละ 10.57 พร้อมอพยพ เพราะมีลูกหลานเป็นเด็กเล็ก, ป่วย สุขภาพไม่ดี, ไม่มีที่นอน, การเดินทางลำบาก ฯลฯ
เมื่อถามว่า คิดอย่างไรกับข้อมูลน้ำท่วมกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ฝ่ายรัฐบาลนำเสนอ ร้อยละ 37.27 ระบุข้อมูลสับสน ไม่ชัดเจน ขาดความน่าเชื่อถือ ร้อยละ 24.20 เห็นว่า ข้อมูลแต่ละหน่วยงาน/บุคคล มีความขัดแย้งกันเอง จนไม่รู้ว่าจะเชื่อข้อมูลจากหน่วยงาน/บุคคลใด ร้อยละ 19.34 รู้สึกว่าการประชาสัมพันธ์ยังไม่ทั่วถึง ร้อยละ 12.92 ระบุ ข้อมูลที่มีการนำเสนอไม่ตรงกับข้อมูลที่ต้องการรู้ และร้อยละ 6.27 รู้สึกว่า ไม่ได้รับข้อมูลจากผู้ที่รู้จริง จึงทำให้เกิดความชะล่าใจ หรือตื่นตระหนกมากเกินไปเมื่อถามถึงการช่วยเหลือ ประชาชนร้อยละ 84.88 รู้สึกมั่นใจในความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ทหาร
เนื่องจากมีกำลังพลมาก, มีเครื่องมืออุปกรณ์ที่สามารถให้ความช่วยเหลือได้อย่างทั่วถึงฯลฯ ร้อยละ 80.24 มั่นใจในความช่วยเหลือจากสื่อมวลชน เพราะมีศักยภาพด้านการประชาสัมพันธ์ และการระดมสิ่งของต่างๆ เพื่อนำมาช่วยเหลือผู้ประสบภัย ฯลฯ ร้อยละ 71.11 มั่นใจในความช่วยเหลือจากรัฐบาล เนื่องจากนายกรัฐมนตรีเอาจริงเอาจัง ขยันลงพื้นที่ ฯลฯ นอกจากนี้ประชาชนยังให้ความมั่นใจต่อความช่วยเหลือจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร/เจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานคร/เจ้าหน้าที่รัฐ/เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น และอาสาสมัคร/มูลนิธิต่างๆด้วย ทั้งนี้ประชาชนยังเห็นใจเจ้าหน้าที่ทหาร ในความเสียสละเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ และปริมณฑล มากที่สุดถึงร้อยละ 93.16 รองลงมาคือ นายกรัฐมนตรี ร้อยละ 91.06 สื่อมวลชน ร้อยละ 88.48 ผู้ว่าฯ กทม. ร้อยละ 73.97
เมื่อถามถึงวิธีแก้เครียด ประชาชนร้อยละ 43.82 ทำใจให้สงบและอดทน ร้อยละ 22.80 พูดคุยกับเพื่อนบ้าน หรือผู้ที่อยู่ในศูนย์พักพิงด้วยกัน ร้อยละ 18.87 ไม่หมกมุ่นกับข่าวสารน้ำท่วมมากเกินไป โดยเลือก ชม ฟัง อ่าน เฉพาะข้อมูล ร้อยละ 9.97 ทำตัวง่าย อยู่แบบพอเพียง ไม่เป็นภาระต่อผู้อื่น และร้อยละ 4.54 ใช้วิธีอ่านหนังสือ ฟังเพลง พักผ่อน ทั้งนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 36.56 คิดว่า กรุงเทพฯ น่าจะพ้นวิกฤติน้ำท่วม และใช้ชีวิตอย่างปกติได้ประมาณกลางเดือนพฤศจิกายน ขณะที่ร้อยละ 18.73 เชื่อว่าจะพ้นวิกฤติต้นเดือนธันวาคม
พนังกทม.ฝั่ง ตอ.แตกหลายจุด น้ำทะลักแรง ยังซ่อมไม่ได้
พนังกั้นน้ำริมเจ้าพระยา ด้านกรุงเทพมหานครฝั่งตะวันออกแตกหลายจุด หลังน้ำทะเลหนุนสูงช่วงเช้า ส่งผลน้ำทะลักพื้นที่สามเสน สุุขุมวิท 50 บางนา และคลองเตย ขณะกระแสน้ำแรง ยังซ่อมไม่ได้...
วันที่ 30 ต.ค. นางวิภารัตน์ ไชยยานุกิจ ผู้อำนวยการเขตคลองเตย เปิดเผยกับไทยรัฐออนไลน์ โดยระบุว่า ช่วงเช้าที่ผ่านมา พนังกั้นน้ำคลองพระโขนงในพื้นที่พังทลายลง 2 จุด คือ บริเวณใต้ทางด่วนใกล้วัดสะพาน และอีกจุดหนึ่ง คือใกล้ลานหิมะทองคำจุดเดิมที่เคยแตก แต่ครั้งนี้ขยับมาทางด้านหมู่บ้านเปรมฤทัย ซึ่ง สองจุดนี้เป็นจุดที่ทางเขตมีการค้ำยัน และเสริมแนวไว้ก่อนหน้านี้แล้ว แต่เนื่องจากวันนี้เป็นวันที่น้ำทะเลหนุนสูง ระดับน้ำและความแรงค่อนข้างมาก การเข้าซ่อมแซมจึงเป็นไปด้วยความยากลำบาก ส่งผลให้มีน้ำทะลักเข้าท่วมยาวไปจนถึงซอยสุขุมวิท 50 ในพื้นที่สำนักงานเขตพระโขนง โดยตามรายงานนั้น น้ำทะเลจะหนุนสูงสุดในเวลา 10.00 น. ซึ่งจะพยายามซ่อมจุดดังกล่าวให้เร็วที่สุด
นอกจากนี้ยังมีรายงานเพิ่มเติมอีกด้วยว่า ในพื้นที่เขตบางนา พนังกั้นน้ำด้านโรงไม้อัด แตกเป็นทางยาวอีกกว่า 20 เมตร ทำให้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่อยู่ในช่วงน้ำทะเลหนุน ไหลทะลักเข้ามาด้วยเช่นกัน โดยนางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ผู้อำนวยการเขตพระโขนงกล่าวว่า พื้นที่เขตพระโขนงกำลังรับน้ำจากจุดที่พนังกั้นแตกทั้งสองด้าน ซึ่งเหมือนโดนประกบอยู่ จากทั้งคลองเตยและบางนา โดยขณะนี้กำลังเดินทางไปตรวจพื้นที่ที่น้ำเข้าท่วม และเร่งประสานสำนักงานเขตใกล้เคียง เพื่อช่วยหาทางซ่อมแซม และป้องกันไม่ให้น้ำไหลเข้ามาเพิ่มขึ้นโดยเร็วที่สุด
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมล่าสุดว่า พนังกั้นน้ำเจ้าพระยาในซอยสามเสน 21 และ 23 พังลงมาอีกครั้งหนึ่งแล้วเมื่อช่วงสายที่ผ่านมา หลังจากที่ตลอดทั้งคืนที่ผ่านมา มีการซ่อมแซมจนเสร็จไปแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังเร่งเข้าซ่อมแซมอีกครั้ง แต่ยังไม่สำเร็จ เนื่องจากน้ำไหลแรงมาก.
น้ำรุกคืบไม่หยุด ทะลักม.เกษตรฯ ฝั่งถ.พหลโยธิน
น้ำท่วมขยายวงไม่หยุดหย่อน ล่าสุด ถึงม.เกษตรฯ ฝั่งถ.พหลโยธินแล้ว อีกด้านน้ำได้เอ่อจากท่อระบายน้ำ เข้าท่วมหลัง ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ ขณะที่ ผอ.เขตลาดพร้าวอ้างคลองลาดพร้าวยังเป็นปกติ แต่ไม่ประมาทเฝ้าระวังต่อเนื่อง...
มหันตภัยน้ำปริมาณมหาศาลรุกคืบเข้าใกล้ใจกลางกรุงเทพฯ มากขึ้นเรื่อยๆ และกระจายวงกว้างไม่หยุด ประกอบกับเป็นช่วงน้ำทะเลหนุน ล่าสุด เมื่อเวลา 05.00 น. วันที่ 30 ต.ค. มีรายงานว่า ที่บริเวณสี่แยกภาสยาด้านหลังมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ประชาชื่น เริ่มพบเห็นน้ำผุดขึ้นจากท่อระบายน้ำ จนไหลเข้าท่วมพื้นที่บริเวณชินเขต 2 แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ โดยสภาพภายในซอยมีน้ำท่วมขัง และยังคงเพิ่มระดับความสูงขึ้นเรื่อยๆส่วนฝั่งถนนพหลโยธินนั้น น้ำเร่ิมท่วมขังบริเวณมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แล้ว ขณะที่ด้านถนนรามอินทรา พบว่าระดับน้ำที่ท่วมขังมีความสูงอยู่ที่ประมาณ 40 เซนติเมตร
สำหรับความพยายามเร่งระบายน้ำในคลองหกวานั้น มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่มีความพยายามที่จะรื้อประตูระบายน้ำคลอง 10-11-12 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการระบายน้ำออกไปทางคลองแสนแสบให้ได้มากยิ่งขึ้นแล้ว ในส่วนพื้นที่กรุงเทพฯ ด้านใน เช่น เขตลาดพร้าว นายบพิตร แสงแก้ว ผู้อำนวยการเขตลาดพร้าว เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในพื้นที่ภายในคลองลาดพร้าว น้ำยังคงไหลตามปกติ ระดับน้ำทรงตัว ยังไม่พบว่ามีน้ำเอ่อจากคลองเข้าท่วมพื้นที่ไหน ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำบางแห่งมีน้ำท่วมเล็กน้อย 15 - 30 เซนติเมตร และมีน้ำท่วมหลังชุมชนเสนานิเวศน์ 2 ซึ่งได้ให้เจ้าหน้าที่นำกระสอบทรายมาเสริม พร้อมกับสูบน้ำออกแล้ว และได้ประชุมหารือกับประธานชุมชน นักการเมืองท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับสถานการณ์ทุกรูปแบบ พร้อมออกประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ หากเกิดวิกฤติหนัก จะอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราว ซึ่งเป็นโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร 6 แห่งด้วย
อัพเดทน้ำท่วม 29 ตุลาคม 54
เผยกทม.17เขต โดนน้ำท่วมแล้ว ประกาศปิด21เส้นทาง
พ.ต.อ.อนุชา อ่วมเจริญ รอง ผบก.อก.บช.น. ในฐานะหัวหน้าฝ่ายการข่าว ศปก.บช.น. รายงานสรุปสถานการณ์น้ำท่วม ในพื้นที่ กทม.ของวันที่ 28-29 ต.ค.ดังนี้ พื้นที่ กทม.มีน้ำท่วมขังจำนวน 17 เขต แบ่งเป็น เขตพื้นที่ให้ประกาศอพยพ ได้แก่ เขตดอนเมือง เขตสายไหม เขตบางพลัด แขวงศาลาธรรมศพน์(เขตทวีวัฒนา)
โดยเขตที่ท่วมเป็นบางส่วน ได้แก่ เขตมีนบุรี เขตหนองจอก เขตคลองสามวา เขตหลักสี่ เขตคันนายาว เขตลาดกระบัง เขตทวีวัฒนา เขตบางกอกน้อย เขตตลิ่งชัน เขตสัมพันธ์วงศ์ เขตพระนคร เขตคลองสาน เขตดุสิต และเขตบางเขน
ส่วนสภาพน้ำท่วมขังบนถนนสายหลักทำให้มีการปิดการจราจรมีทั้งหมด 21 สาย ประกอบด้วย
1.ถนนวิภาวดี-รังสิต น้ำท่วมถึงบริเวณแยกหลักสี่ ถึง สุดเขตนครบาล ระดับน้ำท่วมสูงประมาณ 20 ซ.ม.มีการปิดการจราจร ถึงช่วงบริเวณสะพานกลับรถแยกหลักสี่
2.ถนนพหลโยธิน ทั้งขาเข้า-ออก น้ำท่วมถึงห้างบิ๊กซีสะพานใหม่ ระดับน้ำสูง 135 ซ.ม.มีการปิดการจราจร ตั้งแต่ ตลาดสะพานใหม่จนสุดเขตนครบาล
3. ถนนกำแพงเพชร 6 ตั้งแตเคหะทุ่งสองห้อง จนสุดเขตนครบาล รถวิ่งได้ถึงสถานีรถไฟดอนเมือง น้ำท่วมสูง ประมาณ 50 ซ.ม.
4.ถนนสรงประภา ขาเข้า-ออก ปิดการจราจรตั้งแต่แยกศรีสมานถึงแยกวัดดอนเมือง น้ำท่วมสูงประมาณ 50 ซ.ม.
5.ถนนวุฒากาศ ปิดการจราจรตลอดสาย น้ำท่วมสูงประมาณ 125 ซ.ม.
6.ถนนโกสุมร่วมใจ ปิดการจราจรตลอดสาย น้ำท่วมสูงประมาณ 30 ซ.ม.
7.ถนนเดชะตุงคะ ปิดการจราจรตลอดสาย น้ำท่วมสูงประมาณ 50 ซ.ม.
8.ถนนเวฬุวนาราม (วัดไผ่เขียว) ปิดการจราจรตลอดสาย น้ำท่วมสูงประมาณ 30 ซ.ม.
9.ถนนแจ้งวัฒนะ ซอย 14 ปิดการจราจรตลอดสาย
10.ถนนเลียบคลองสอง ขาเข้า-ออก ปิดการจราจรตั้งแต่แยกพลาธิการ กองทัพอากาศ ถึง แยกสะพานปูน
11.ถนนจันทรุเบกษา ขาเข้า-ออก ปิดการจราจรตั้งแต่แยก รร.นาเรืออากาศ (คปอ.) ถึง แยกจันทรุเบกษา น้ำท่วมสูงประมาณ 85 ซ.ม.
12.ถนนจรัลสนิทวงศ์ ขาเข้า-ออก ปิดการจราจรตั้งแต่แยกบางพลัด ถึงสะพานพระราม 7
13.ถนนจรัลสนิทวงศ์ ขาเข้า-ออก ปิดการจราจรตั้งแต่แยกบรมราชนนี ถึง แยกบางขุนนนท์ น้ำท่วมสูงประมาณ 80-150 ซ.ม.
14.ถนนสิรินธร ขาเข้า-ออก ปิดการจราจรตั้งแต่แยกบางพลัดถึงทางต่างระดับสิรินธร
15.ถนนอรุณอมรินทร์ ขาเข้า- ออก ปิดการจราจรตั้งแต่แยกอรุณอมรินทร์ ถึง แยก รพ.ศิริราช
16.ถนนบรมราชชนนี ขาเข้า-ออก ปิดการจราจรตั้งแต่เชิงสะพานพระปิ่นเกล้า ถึง ทางต่างระดับสิรินธร(สายใต้เก่า) น้ำท่วมสูงประมาณ 80-100 ซ.ม.
17.ถนนทางคู่ขนานลอยฟ้า ขาเข้า-ออก ปิดการจราจรตั้แงต่ทางขึ้น-ลงตลิ่งชัน ถึง ทางขึ้น-ลงพุทธมณฑลสาย 3
18.ถนนบรมราชชนนี(ช่วงพุทธมณฑล)ขาเข้า-ออก ปิดการจราจรตั้งแต่แยกพุทธมณฑล สาย 2 ถึง แยก พุทธมณฑล สาย 4 น้ำท่วมสูงประมาณ 80-150 ซ.ม.
19.ถนนพุทธมณฑล สาย 3 ขาเข้า-ออก ปิดการจราจรตั้งแต่แยกตัดถนนบรมราชชนนี ถึงแยกอุทยาน
20.ถนนอุทยาน ขาเข้า-ออก ปิดการจราจรตั้งแต่แยกอุทยาน ถึง แยกตัดถนนพุทธมณธฑล สาย 3
21.ถนนศาลาธรรมสพน์ ขาเข้า- ออก ปิดการจราจรตลอดสาย น้ำท่วมสูงประมาณ 30-80 ซ.ม.
หากกรุงวิกฤติ! 'สุกำพล'จัดรถพร้อมอพยพคน 3.5 แสน
"สุกำพล" แจงระบายน้ำฝั่งตะวันออก ใช้วิธีลอกคลองดีกว่าเจาะถนน ความลาดชันของพื้นที่ ฝั่งซ้ายและขวาของแนวถนนมีระดับเท่ากัน เจาะถนนแล้วส่อน้ำไหลเข้าท่วมทั้ง 2 ฝั่ง กลายเป็นน้ำขัง เตรียมพร้อมจัดรถอพยพหาก กทม.วิกฤติ สามารถขนคนได้ 3.5 แสน...
เมื่อวันที่ 29 ต.ค. ที่กองบังคับการตำรวจราจร (บก.จร.) ถนนวิภาวดีรังสิต กทม. พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัศน์ รมว.คมนาคม ให้สัมภาษณ์ถึงข้อเสนอของกลุ่มเอกชนในการขุดเจาะถนน 5 สายในฝั่งตะวันออกเพื่อเป็นเส้นทางระบายน้ำ ว่า ขอขอบคุณเอกชนที่เสนอแนวคิดนี้ แต่สิ่งไหนที่ดำเนินการได้รัฐจะดำเนินการ แต่จากการสำรวจสภาพพื้นที่โดยกระทรวงคมนาคม เห็นควรว่าไม่ต้องเจาะถนนในเส้นทางใด เนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์และความลาดชันของพื้นที่ พบว่าฝั่งซ้ายและขวาของแนวถนนมีระดับเท่ากัน ดังนั้น เมื่อเจาะถนนแล้วน้ำจะไหลเข้าท่วมทั้ง 2 ฝั่งในระดับเท่ากัน กลายเป็นน้ำขังในทุ่ง ไม่สามารถไหลไปไหนได้ ไม่มีผลในเรื่องของการระบายน้ำ จึงเห็นควรให้มีการขุดลอกสิ่งกีดขวางตามลำน้ำและคลองระบายน้ำลงสู่ทะเลแทน เนื่องจากพบว่าหลายจุด อาทิ ตามคอสะพานมีแนวสันดอน
ตลอดจนผักตบชวากีดขวางจำนวนมาก แต่คงไม่สามารถบอกได้ว่าจะช่วยระบายน้ำเพิ่มขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์ แต่หากน้ำไหลสะดวก ก็จะระบายลงทะเลได้เร็วขึ้น และปัญหาฝั่งตะวันออกที่พบคือ มีคลองระบายน้ำค่อนข้างน้อย และส่วนใหญ่เป็นแนวขวาง และมีคันกั้นน้ำค่อนข้างแข็งแรง ทำให้ระบายน้ำได้ยาก ส่งผลให้น้ำเอ่อล้นมาทางฝั่งตะวันตกค่อนข้างมาก เพราะมีคันกั้นที่อ่อนแอกว่า อย่างไรก็ตาม คิดว่าพื้นที่ทุ่งรังสิตที่ท่วมขังแล้ว สามารถใช้เป็นพื้นที่รับน้ำได้ส่วนหนึ่ง เพราะมีความหนาแน่นของที่พักอาศัยไม่มาก และสามารถสูบ ระบายผ่านลำคลองลงสู่ทะเลได้
พล.อ.อ.สุกำพล กล่าวถึงการเตรียมการทางด้านขนส่งหากต้องอพยพประชาชนออกจาก กทม.ว่า กระทรวงคมนาคมได้เตรียมแผนรองรับไว้แล้ว โดยประมาณการตัวเลขผู้อพยพในกรณีวิกฤติไว้ที่ 350,000 คน มีการเตรียมรถเมล์ ขสมก. ไว้ 3,000 คัน คันละ 40 คน ดังนั้น ในหนึ่งเที่ยวจะขนได้ 1 แสนคน โดยแบ่งการดำนินการเป็นช่วงๆ จัดรถบรรทุกที่มีความสูงไว้ 200-300 คัน ไปรับผู้อพยพในพื้นที่น้ำท่วมสูง มาส่งต่อให้รถเมล์ และส่งต่อให้รถ บขส. เพื่อกระจายไปตามจังหวัดต่างๆ คาดว่าจะรับมือได้ เพราะการประกาศพื้นที่วิกฤติจะประกาศเป็นส่วนๆ ทำให้ทยอยอพยพได้.
กองทัพเรือเตรียมแผนอพยพคนทางทะเล
ผบ.ทร.เตรียมแผนอพยพคนทางทะเล หากเส้นทางคมนาคมถูกตัดขาด กังวลชุมชนทุกจุดของ 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา...
วันที่ 29 ต.ค. ที่หอประชุมกองทัพเรือ. พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) เดินทางมาเป็นประธานพิธีปล่อยคาราวานทัพเรือช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย จากนั้นได้ให้สัมภาษณ์ถึงการช่วยเหลือประชาชนในส่วนของกองทัพเรือว่า กรมอู่ทหารเรือทำแพลอยน้ำไปวางตามจุดต่างๆ เพื่อเป็นศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย สำหรับพื้นที่ฝั่งตะวันตกที่มีปัญหาน้ำมากในขณะนี้นั้น ตอนนี้กองทัพเรือเร่งไปดูแล ส่วนการอพยพประชาชนในพื้นที่ เราทำแผนไว้แล้วตามเขตต่างๆ ในกรุงเทพฯ เราขึ้นลิสต์ไว้หมดว่ามีที่ไหน เมื่อรัฐบาลสั่งการ กองทัพเรือพร้อมดำเนินการ
"ตอนนี้กองทัพเรือเตรียมพร้อมแล้วทั้งรถทั้งเรือ แต่การอพยพต้องขึ้นอยู่กับตัวผู้อพยพด้วยว่า เขาต้องการจะไปหรือไม่ นอกจากนี้กองทัพเรือยังมีแผนอพยพคนในกรณีที่เส้นทางคมนาคมถูกตัดขาด ทางกองทัพเรือได้ทำแผนไว้แล้วว่า เรามีการเตรียมอพยพคนทางทะเลหากเส้นทางถูกตัดขาดหมด โดยเราจะใช้รถที่ลุยน้ำได้ไปช่วยเหลือประชาชนออกมาจากพื้นที่ก่อน แล้วนำมาพักที่โรงเรียนนายเรือ จ.สมุทรปราการ เพื่อนำไปขึ้นเรือยกพลขึ้นบก แล้วนำไปส่งที่ จ.ชลบุรี หรือจังหวัดอื่นๆต่อไป" ผบ.ทร. กล่าว
ส่วนสถานการณ์ในคลองทวีวัฒนาขณะนี้นั้น ผบ.ทร. กล่าวว่า เนื่องจากทำนบที่กั้นไว้ถูกเจาะ ตอนนี้ทาง กทม.ได้เสริมแผ่นเหล็ก แต่แรงน้ำมหาศาลขยายวงกว้างขึ้น เราพยายามเสริมทำนบให้แข็งแรงที่สุด ส่วนการดำเนินการแก้ปัญหาน้ำท่วมของ ศปภ.ขณะนี้ เป็นหนทางดีที่สุดในตอนนี้ เราต้องช่วยกันป้องกัน ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการสั่งอพยพคนใน กทม. ส่วนพื้นที่ของกองทัพเรือ จะมีกำลังพลเพียงพอไปช่วยเหลือประชาชนหรือไม่ ผบ.ทร. กล่าวว่า เราจะใช้กำลังพลที่มีอยู่อย่างเต็มความสามารถ ตอนนี้เราได้จัดกำลังจากส่วนต่างๆ ของกองทัพเรือมาช่วยเหลือประชาชน ทั้งนาวิกโยธิน สอ.รฟ. ต่างจังหวัด เราระดมมาหมด ตอนนี้กองทัพเรือเรารับผิดชอบ 16 เขต และพื้นที่ข้างเคียง กองทัพเรือจะอยู่กับประชาชนจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย
เมื่อถามว่า ในช่วงน้ำทะเลหนุนสูง กองทัพเรือกังวลในจุดไหนบ้าง ผบ.ทร. กล่าวว่า ทุกจุดของ 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เรากังวลหมด
กทม.เฝ้าระวังพิเศษ 3 เขต ลาดพร้าว-วังทองหลาง-จตุจักร
ผู้ว่าฯ แถลงเตือน 3 เขตวังทองหลาง,ลาดพร้าว และจตุจักร เฝ้าระวัง ขณะปลาสวายหน้าวัดยานนาวาไหลตามน้ำขึ้นถนนเจริญกรุงแล้ว...
เมื่อวันที่ 29 ต.ค. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงข่าว เฝ้าระวังเขตวังทองหลาง, ลาดพร้าว และจตุจักร หลังพบว่าบางพื้นที่เริ่มมีน้ำเอ่อล้น โดยมีรายงานเพิ่มเติมด้วยว่าระดับน้ำในคลองลาดพร้าว ย่านวังหิน สะพานเหล็ก ด้านหลังโรงเจ พบว่ามีน้ำเอ่อล้นเข้ามาในชุมชนริมคลองความสูงราว 5-10 เซนติเมตรแล้ว ด้านนายบพิตร แสงแก้ว ผู้อำนวยการเขตลาดพร้าว เปิดเผยเช่นเดียวกันว่าบริเวณทางกลับรถ ถนนเกษตรนวมินทร์มีน้ำเอ่อท่วมผิวการจราจรแล้วด้วยเช่นกัน กินระยะทางยาวราว 300 เมตร ซึ่งขอแนะนำว่ารถเล็กไม่ควรผ่านในเส้นทางดังกล่าว
ขณะที่ทางด้านกรุงเทพมหานครฝั่งตะวันตก ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรดาปลาสวายที่อาศัยอยู่บริเวณวังมัจฉาของวัดยานนาวา หลายสิบตัว ได้ไหลออกมาตามน้ำที่เอ่อล้นจากแม่น้ำเจ้าพระยา เข้ามาที่ ถนนเจริญกรุง ซึ่งขณะนี้มีระดับน้ำสูงราว 30 เซนติเมตรแล้วขณะที่ทางด้าน นางรัตตินันท์ นิธิโอฬารพงศ์ ผู้อำนวยการเขตบางกอกน้อย ก็เปิดเผยเช่นเดียวกันว่า สำนักงานเขตได้เข้าซ่อมแซมแนวป้องกันน้ำที่ถนนพรานนกได้แล้ว แต่ยอมรับว่ายังมีบางจุดที่เกิดการรั่วซึมอยู่ ซึ่งได้เร่งทำการซ่อมแซมโดยประสานกับเจ้าหน้าที่ทหารเรือด้วยเช่นกัน.
นายกฯมั่นใจ ระดับน้ำท่วมขังใน กทม. ลดลงช่วงต้นพ.ย.
นายกฯมั่นใจ ระดับน้ำท่วมขังใน กทม. ลดลงช่วงต้นพ.ย. ส่วนที่นครสวรรค์ และชัยนาท น้ำลดลงแล้ว...
วันที่ 29 ต.ค. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน ว่า ได้เร่งออกมาตรการรองรับน้ำทะเลที่จะหนุนสูง โดยกรุงเทพฯฝั่งตะวันออก ให้กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำคลองข้าวเม่าและคลองสาคู ระบายน้ำด้วยประตูน้ำ 6-13 คลองหกวา สายล่าง พร้อมให้ กทม. การประปา และกระทรวงอุตสาหกรรม ใช้ไซฟ่อนเร่งระบายน้ำ ให้ กทม.และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบายน้ำลงคลองแสนแสบ ส่วนฝั่งตะวันตก ยอมรับว่าระบายยาก แต่ให้กรมชลประทานเร่งอุดรอยรั่วคันกั้นน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ให้ รมว.คมนาคม หาแผ่นเหล็กกั้น และให้ระบายน้ำลงแม่น้ำท่าจีนและเจ้าพระยา หากทำได้ เชื่อว่าจะลดปริมาณน้ำในกรุงเทพฯให้อยู่ในระดับต่ำ เชื่อว่าน้ำในกรุงเทพฯจะเริ่มลดลงในสัปดาห์แรกของเดือน พ.ย. และจะรักษาคันกั้นน้ำตามแนวพระราชดำริได้
นอกจากนี้ นายกฯกล่าวด้วยว่า สถานการณ์น้ำท่วมภาคกลางเริ่มปกติ โดยที่นครสวรรค์ และชัยนาท น้ำลดลงแล้ว
นิตยสาร “ไทม์” เผย กระแสน้ำเข้าใกล้หัวใจทางประวัติศาสตร์
นิตยสาร “ไทม์” เผย กระแสน้ำเข้าใกล้หัวใจทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของกรุงเทพฯ ทั้งพระบรมหาราชวัง และวัดเก่าแก่ริมฝั่งเจ้าพระยา ทั้งยังระบุว่ารัฐบาลและฝ่ายค้านรวมทั้งผู้สนับสนุน ยังทะเลาะเบาะแว้งกล่าวโทษซึ่งกันและกัน ขาดแผนบริหารจัดการน้ำที่เป็นเอกภาพ...
นิตยสาร “ไทม์” รายงานเกาะติดสถานการณ์น้ำท่วมกรุงเทพมหานครอย่างใกล้ชิด โดยระบุว่ากระแสน้ำเริ่มไหลเข้าใกล้หัวใจทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของกรุงเทพฯ โดยเมื่อเช้าวันศุกร์ที่ 28 ต.ค. ระดับน้ำที่นอกวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระบรมมหาราชวังเดิม ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา สูงถึงหัวเข่าแล้ว นอกจากนี้ ยังมีวัดและวังเก่าแก่อีกมากมายอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงประทับอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ทรงมีพระราชกระแสผ่านผบ.ทบ.ว่า ไม่โปรดให้ป้องกันพระราชฐานเป็นพิเศษ ปล่อยให้น้ำไหลตามธรรมชาติ
ด้านกองทัพไทยสัญญาว่าจะสนธิกำลังทหาร 50,000 นายเพื่อเบี่ยงเบนทางน้ำและช่วยประชาชนอพยพ ขณะท่ีภาครัฐกระตุ้นให้ประชาชนทิ้งกรุงเทพฯ ไปต่างจังหวัด ไทม์เผยด้วยว่า นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านรวมทั้งผู้สนับสนุน ยังทะเลาะเบาะแว้งกล่าวโทษซึ่งกันและกัน ขณะท่ีทหาร พระสงฆ์ และอาสาสมัครหลายพันคนเร่งทำงานเพื่อพยายามยกระดับพนังกั้นน้ำ และแจกจ่ายอาหารและเครื่องบรรเทาทุกข์อื่นให้ผู้ประสบภัย
รายงานของไทม์ระบุด้วยว่า รัฐบาลไทยสัญญาว่าจะสอบสวนสาเหตุของน้ำท่วมเมื่อสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ ทั้งยังให้ความมั่นใจนักลงทุนต่างชาติ ว่ารัฐบาลจะกำหนดแผนงานที่มีประสิทธิภาพเพื่อปกป้องโรงงานและเขตอุตสาหกรรมต่างๆ ในอนาคต แต่หนังสือพิมพ์ของไทยบางฉบับเปิดเผยข้อมูลของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ว่า ถึงแม้รัฐบาลไทยจะทุ่มงบประมาณกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ( กว่า 150,000 ล้านบาท) ในช่วงปี 2548 ถึง 2552 เพื่อใช้ในโครงการบริหารจัดการน้ำทั่วประเทศ แต่ส่วนใหญ่ไร้ประสิทธิภาพ และประเทศไทยยังคงขาดแผนบริหารจัดการน้ำที่เป็นเอกภาพ.
อัพเดทน้ำท่วม 28 ตุลาคม 54
น้ำทะลักล้นกำแพงสนามบินดอนเมืองเข้าอาคารวีไอพี เสียหายยาวกว่า 100 เมตร โชคดีรถยนต์ไม่ได้รับความเสียหาย เจ้าหน้าที่ระดมกำลังแก้ไข...
เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 28 ต.ค. ที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย(ศปภ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบริเวณรั้วของท่าอากาศยานดอนเมืองที่เป็นแนวกันน้ำจากถนนวิภาวดีรังสิต ได้เกิดการทรุดตัวลงมา เนื่องจากกำแพงเกิดการร้าวประมาณ 100 เมตร ขณะที่แนวกำแพงเหล็กที่กั้นน้ำอยู่ได้ทรุดตัวลงทำให้น้ำที่อยู่ภายนอกไหลล้นทะลักเข้ามา โดยที่น้ำไหลเข้าท่วมในบริเวณนั้นทำให้อาคารวีไอพีระหว่างประเทศของสนามบินดอนเมืองมีน้ำไหลเข้ามาจำนวนมาก และยังทำให้กำแพงเกิดความเสียหายหนักขึ้นมาอีกจากการที่มีรถจีเอ็มซีของทหารขับฝ่าน้ำเข้ามา ทำให้คลื่นที่เกิดจากการวิ่งซัดกระทบกำแพง ซึ่งล่าสุดเจ้าหน้าที่การท่าอากาศยานได้ระดมกำลังในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่ยังไม่สำเร็จ
รายข่าวแจ้งว่า จากการที่น้ำไหลมาบริเวณดังกล่าวได้สร้างความเสียเล็กน้อยในบริเวณนั้น เนื่องจากมีรถของประชาชนที่มาจอดอยู่เพียงไม่กี่คัน อีกทั้งบริเวณพื้นที่กำแพงแตกยังมีบริเวณที่กว้าง ทำให้ระดับน้ำที่ไหลเข้ามายังไม่ท่วมขังแต่อย่างใดในบริเวณของอาคาร.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงเย็นวันที่ 28 ต.ค. ศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจร กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บก.02) แจ้งประชาสัมพันธ์ปิดการจราจรน้ำท่วมขังและมวลน้ำไหลเข้าพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมีรายละเอียดดังนี้
พื้นที่ด้านทิศเหนือ
1 ถ.วิภาวดีรังสิต ขาเข้า ปิดการจราจรตั้งแต่แยกอนุสรณ์สถาน ถึงแยกหลักสี่ ขาออก ปิดการจราจรตั้งแต่แยกหลักสี่เป็นต้นไป
2 ถ.พหลโยธิน ขาเข้า-ขาออก ปิดการจราจรตั้งแต่แยกอนุสรณ์สถาน ถึงพหลโยธิน 50 (ห้างบิ๊กซี พหลโยธิน)
3 ถ.กำแพงเพชร 6 (ถ.โลคัลโรด) ขาเข้า-ขาออก ปิดการจราจรตั้งแต่หน้าหมู่บ้านเมืองเอก ถึงแยกการเคหะทุ่งสองห้อง
4 ถ.สรงประภา ขาเข้า-ขาออก ปิดการจราจรตั้งแต่แยกศรีสมาน ถึงแยก กสบ.
5 ถ.เชิดวุฒากาศ ขาเข้า-ขาออก ปิดการจราจรตลอดสาย
6 ถ.เวฬุวนาราม (วัดไผ่เขียว) ขาเข้า-ขาออก ปิดการจราจรตลอดสาย
7 ถ.เลียบคลองสอง ขาเข้า-ขาออก ปิดการจราจรตั้งแต่แยกพลาธิการกองทัพอากาศ ถึงแยกสะพานปูน
8 ถ.จันทรุเบกษา ขาเข้า-ขาออก ปิดการจราจรตั้งแต่แยก รร.นายเรืออากาศ(คปอ.) ถึงแยกจันทรุเบกษา สำหรับพื้นที่ ด้านทิศตะวันตกของกรุงเทพมหานคร เริ่มที่
1. ถ.จรัญสนิทวงศ์ ขาเข้า-ขาออก ปิดการจราจรตั้งแต่แยกบางพลัด ถึงสะพานพระราม 7
2. ถ.สิรินธร ขาเข้า-ขาออก ปิดการจราจรตั้งแต่แยกบางพลัด ถึงทางต่างระดับสิรินธร
3. ถ.อรุณอัมรินทร์ ขาเข้า-ขาออก ปิดการจราจรตั้งแต่แยกอรุณอัมรินทร์ ถึงแยก รพ.ศิริราช
4. ถ.บรมราชชนนี ขาเข้า-ขาออก ปิดการจราจรตั้งแต่เชิงสะพานพระปิ่นเกล้าถึงทางต่างระดับสิรินธร (สายใต้เก่า)
5. ถ.บรมราชชนนี (พุทธมณฑล) ขาเข้า-ขาออก ปิดการจรารตั้งแต่แยกพุทธมณฑล สาย 3 ถึงแยกพุทธมณฑล สาย 4
6. ถ.อุทยาน ขาเข้า-ขาออก ปิดการจราจรตั้งแต่แยกอุทยาน ถึงแยกพุทธมณฑลสาย 3
7 ถ.ศาลาธรรมสพน์ ขาเข้า-ขาออก ปิดการจราจรตลอดสาย
"สุขุมพันธุ์ บริพัตร" เผยปริมาณน้ำจากภาคเหนือเริ่มไหลเข้าพื้นที่เขตบางเขน เน้นประชาชนเตรียมเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ส่วนแขวงทวีวัฒนา กทม.จับมือกองทัพเรือเร่งกู้คลองมหาสวัสดิ์ คาดเสร็จภายในวันพรุ่งนี้ พร้อมยินดีน้อมรับแนวคิดเจาะถนน 5 เส้นของ ศปภ. แต่ขอให้แจกแจงรายละเอียดให้ชัดเจน...
เมื่อวันที่ 28 ต.ค. ที่ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาเฉพาะกิจและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม กรุงเทพมหานคร (กทม.) ณ ศาลาว่าการกรุงเทพฯ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ แถลงถึงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ กทม.ว่า ยังมีความน่าเป็นห่วง เนื่องจากปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อรวมกับระดับน้ำทะเลหนุนในช่วงเช้าวันนี้ ทาง กทม.ได้ทำการตรวจวัดที่บริเวณพื้นที่ปากคลองตลาด พบว่ามีระดับน้ำสูงถึง 2.45 เมตร ชัดเจนถึงแม้ว่ายังไม่ถึงระดับแนวเขื่อนตลอดริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาความสูง 2.5 เมตร แต่คาดว่าในวันพรุ่งนี้ (29 ต.ค.) ระดับน้ำทะเลหนุนสูง เมื่อผนวกกับระดับน้ำในแม่น้ำดังกล่าวจะสูงประมาณ 2.5 - 2.6 เมตร จึงขอให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ช่วยกันเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ประกอบกับในช่วงเช้าขณะลงพื้นที่ ก็เป็นห่วงชาวบ้านที่กำลังเล่นน้ำ หรือกำลังนำเบ็ดมาตกปลา เพราะความปลอดภัยต้องมาก่อน อย่างไรก็ตาม ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลอย่างเต็มที่
ขณะเดียวกัน ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ุ กล่าวต่อว่า ระดับความสูงของน้ำทุ่งนั้น อาทิ คลองสูง มีความสูงมากขึ้นกว่าเมื่อวานประมาณ 8 ซม. ส่วนคลองทวีวัฒนา วันนี้ความสูงของระดับน้ำนอกแนวป้องกันอยู่ที่ 2.52 เมตร ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเมื่อวานถึง 14 ซม. คลองเปรมประชากร ปริมาณน้ำได้ไหลล้นตลิ่งบริเวณ สน.ดอนเมือง ทำให้สถานการณ์ค่อนข้างน่าเป็นห่วง อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ปริมาณมวลน้ำจากภาคเหนือ เริ่มไหลเข้าเขตบางเขน ดังนั้นทาง กทม.จึงขอประกาศให้เป็นพื้นที่เฝ้าระวังเป็นพิเศษ หลังจากที่เคยประกาศไปก่อนหน้านี้ และขอให้ประชาชนที่อยู่ในเขตดังกล่าวเฝ้าระวังติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด
พนังกั้นน้ำริมคลองพระโขนงพัง น้ำทะลักเข้าสุขุมวิท48,50
เมื่อวันที่ 28 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกิดเหตุพนังกั้นน้ำในบริเวณชุมชนสมาคมหิมะทองคำ ซึ่งอยู่ริมคลองพระโขนงพังเสียหายเป็นระยะทาง 10 เมตร เนื่องจากมีสภาพเก่ามาก ทำให้น้ำล้นทะลักเข้าซอยสุขุมวิท 48 จนล่าสุดน้ำเอ่อถึงซอยสุมขุมวิท 50 และท่วมชุมชนชุมชนเปรมฤทัย และเริ่มเจริญ กินพื้นที่ประมาณ 500 เมตร โดยระดับน้ำสูง 20-30 เซนติเมตร ขณะที่เจ้าหน้าที่จากสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร เร่งเข้าไปซ่อมแซมจุดที่พังแล้ว ส่งผลให้น้ำเริ่มลดลงแล้วเช่นกัน
นางวิภารัตน์ ไชยานุกิจ ผู้อำนวยการเขตคลองเตย กล่าวยืนยันถึงสถานการณ์ดังกล่าวว่า เมื่อช่วงเช้าเกิดเหตุพนังกั้นน้ำริมคลองพระโขนงพัง เป็นแนวยาวประมาณ 10 เมตร ทำให้ช่วงเวลาที่น้ำทะเลหนุน ทำให้น้ำได้ไหลทะลักเข้ามา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการซ่อมแซม โดยเจ้าหน้าที่สำนักการระบายน้ำ และทหารจาก ม.พัน 1 รอ. จำนวน 50 นาย ช่วยกันนำกระสอบทรายอุดรอยแตก และพบว่าล่าสุดในช่วงสาย ระดับน้ำได้ลดลง เนื่องจากน้ำในคลองพระโขนงได้ลดลง รวมทั้งน้ำที่ไหลท่วมพื้นผิวถนนได้ไหลลงท่อไปคลองบางจากแล้ว และยังไม่มีน้ำไหลเข้ามาเพิ่มเติมอีก คาดว่าการซ่อมแซมจะเสร็จทันก่อนที่จะถึงช่วงเวลาที่น้ำทะเลหนุนอีกครั้งในตอนเย็นวันนี้
ด้านนางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ผู้อำนวยการเขตพระโขนง กล่าวว่า เขตพระโขนงก็ได้รับผลกระทบจากกรณีที่พนังกั้นน้ำริมคลองพระโขนง ซึ่งอยู่เขตของสำนักงานเขตคลองเตยชำรุด ส่งผลให้น้ำรั่วและซึมเข้ามา ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้เร่งไปอุดรอยรั่วและน้ำหยุดเข้ามาแล้ว แต่ยังมีน้ำขังอยู่บ้าง ขณะนี้กำลังเร่งสูบน้ำออก.
ภาพน้ำท่วมคลองหลวงล่าสุด
กรุงเทพเริ่มวิกฤต
น้ำทะเลหนุนสูง ส่งผลให้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา เอ่อเข้าท่วมหลายพ้ืนที่ของกรุงเทพมหานคร โดยน้ำได้เข้าท่วมถึงฟุตปาทหน้าโรงพยาบาลเลิดสินแล้ว ขณะที่วัชรพลน้ำสูงเกือบหัวเข่า ส่วนถนนวิภาวดีรังสิต เช้าวันนี้น้ำยังคงแค่วัดหลักสี่...
เมื่อวันที่ 28 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่น้ำทะเลหนุนสูง ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเอ่อเข้าท่วมหลายพื้นที่ริมฝั่งเจ้าพระยา ตั้งแต่บริเวณแยกศิริราช ถึงท่าน้ำวังหลัง และถนนอรุณอัมรินทร์บางส่วน ระดับน้ำสูงประมาณ 15 เซนติเมตร ทหารเร่งก่อกระสอบทรายความสูง 2.80 เมตร ปิดทางเข้าออก รพ.ศิริราช ป้องกันน้ำไหลทะลักเข้าท่วม ขณะที่พื้นที่สนามหลวง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถนนหน้าศาลฎีกา น้ำได้เอ่อขึ้นมาแล้วเช่นกัน ไม่แตกต่าง ที่ถนนเจริญกรุง น้ำได้ไหลเข้าย่านเยาวราชแล้วบางส่วน สถานีตำรวจจักรวรรดิ โรงพยาบาลเลิดสิน ห้างโรบินสันบางรัก น้ำได้ท่วมถนนบริเวณฟุตปาทแล้ว
ส่วนพื้นที่เขตสายไหม น้ำท่วมเกือบเต็มพื้นที่ บางจุดถึงแค่หัวเข่า แต่บางจุดสูงถึง 1 เมตร ส่วนที่วัชรพล น้ำท่วมถนน และชุมชนรอบข้างบ้างแล้ว โดยระดับน้ำสูงถึงหัวเข่า แต่ยังไม่ท่วมถึงบ้านจัดสรร เนื่องจากหมู่บ้านจัดสรรส่วนใหญ่ ได้ยกพื้นสูงกว่าถนนประมาณ 1 เมตร สำหรับถนนวิภาวดีรังสิต เช้าวันนี้น้ำยังคงแค่วัดหลักสี่ แต่น้ำท่วมสูง มีขยะลอยมาด้วยจำนวนมาก มีกล่ินเหม็น และเป็นสีดำ ส่วนระดับน้ำบนถนนวิภาวดีรังสิต บางส่วนสูงถึง 1.50 เมตร
สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.นครปฐม วิกฤต ระดับน้ำสูง 50 ซม. - 2 เมตร ทหารเร่งนำรถมาช่วยประชาชน อพยพออกนอกพื้นที่...
สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม น้ำที่ไหลบ่าจาก อ.ไทรน้อย จ.อยุธยา จ.นนทบุรี จ.ปทุมธานี ที่ไหลผ่าน ต.คลองโยง เข้าสู่ ศาลายา พุทธมณฑล อย่างรวดเร็วเมื่อช่วง 23.30 น.ของวันที่ 26 ต.ค.54 ทำให้พื้นที่ดังกล่าว กลายเป็นเมืองบาดาลอย่างรวดเร็ว ระดับน้ำสูง 50 ซ.ม.ถึง 1 เมตร ถนนสายคลองโยง-ศาลายา และถนนพุทธมณฑลสาย 5 ม.ราชมงคล-ศาลายา ซึ่งมีหน่วยราชการและมหาวิทยาลัยหลายแห่งบนถนนเส้นนี้ เช่นสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ รร.ช่างสิบหมู่ ม.เทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ศาลายา เกือบทั้งสายจมน้ำ รถไม่สามารถวิ่งผ่านไปมาได้ ต้องปิดถนน อำเภอต้องประกาศให้ประชาชนในพื้นที่ อ.ศาลายา อพยพโดยด่วน
นอกจากนี้ในตัวเมืองพุทธมณฑล ซึ่งเป็นศูนย์กลางธุรกิจร้านค้าจำนวนมากยังถูกน้ำท่วม มีหลายรายที่ขนของกันไม่ทัน ต้องปล่อยให้จมน้ำ ส่วนที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดหมู่บ้านพฤกษา 34 ต.ศาลายา ปรากฎว่าน้ำได้เข้าท่วมทั่วพื้นที่กว่า 1 เมตร ต้องระดมทหารจากกรมยุทธศึกษาทหารเรือ นำรถ จี. เอ็ม.ซี.จำนวนกว่า 30 คัน และเรือท้องแบนเข้ารับผู้อยู่อาศัยในหมู่บ้านให้ออกมายังที่พักพิง ภายใน ม.มหามงกุฎราชวิทยาลัย ศาลายา ซึ่งมีหอพักสร้างใหม่เป็นที่รองรับ โดยใช้อาคารหอพักปัญญา มี 7 ชั้น สามารถรองรับผู้อพยพได้จำนวน 500 คน แต่ปรากฏว่ามีผู้อพยพเข้าอยู่ถึง 670 คน ต้องแบ่งห้องให้อยู่รวมกัน จนทาง ม.มหามง กุฎ ต้องติดป้ายว่าเต็ม เพราะเกรงว่าจะเป็นการแออัดเกินไป จนทหารต้องนำผู้อพยพที่ขนมา แยกย้ายกันไปไว้ยังที่พักพิงแห่งอื่น ซึ่งมีอีก 10 แห่ง
นอกจากน้ำจะเข้าท่วม อ.พุทธมณฑล จมน้ำแล้วยังไหลซึมออกตามท่อระบายน้ำเข้าท่วมถนนสายหลักพระบรมราชชนนี ระหว่างพุทธมณฑล สาย 4-5 น้ำยังเข้าท่วมถนนกว่า 30 ซ.ม.ทำให้การจราจรที่มุ่งหน้าเข้านครปฐม ลงสู่ภาคใต้และเป็นถนนเส้นทางไปเหนือ รถยนต์เล็กไม่สามารถวิ่งผ่านไปได้ ตร.จราจร สภ.พุทธมณฑล ต้องทำงานกันอย่างหนักระบายรถให้ไปใช้เส้นทางถนนเพชรเกษม ทำให้การจราจรติดขัด
นอกจากนี้น้ำที่ไหลบ่าเข้า อ.พุทธมณฑล ยังทำให้พื้นที่ติดต่อกับคลองโยง ตั้งแต่ อ.บางเลน อ.นครชัยศรี อ.สามพราน ถนนหลายสายต้องถูกตัดขาดไปด้วย เนื่องจากน้ำจากคลองโยง พุทธมณฑล ต้องระบายลงแม่น้ำท่าจีน ทำให้แม่น้ำท่าจีนน้ำล้นทะลัก เข้าท่วมถนน เช่นถนนสายห้วยพลู-บางพระ ถูกน้ำตัดขาด ต้องใช้เจ้าหน้าที่คอยโบกและเขียนป้ายเส้นทางห้ามเข้าหลายสาย น้ำยังเข้าทำลายสวนกล้วยไม้ในพื้นที่ อ.สามพราน ได้รับความเสียหาย ฟาร์มกล้วยไม้หลายแห่งจมน้ำ โดยหลังจากที่ศูนย์อำนวยการดดดตภัย จังหวัดนครปฐม ได้รับรายงาน จึงได้ประสานขอความร่วมมือ ไปยังภาคเอกชนและหน่วยกาชาดสากล นครปฐม จัดถุงยังชีพ ไปให้ความช่วยเหลือ โดยขอรับบริจาคและตั้งโรงครัวสำหรับผู้อพยพ
พร้อมทั้งขอเชิญชวนประชาชนอาสาสมัคร จิตอาสาเป็นแรงช่วยเข้ามาดูแล และให้การช่วยเหลือผู้อพยพ เพื่อให้เป็นระบบ ทั้งนี้ทาง ร.พ.ศูนย์นครปฐม ได้จัดแพทย์อาสาออกให้ความช่วยเหลือตรวจรักษาผู้อพยพและแจกยาให้ฟรี ซึ่งมีผู้ป่วยทั้งเด็กและผู้ใหญ่ มาขอรับการรักษามากมาย ซึ่งมีอยู่ 1 ราย นางแป้น ทรัพย์พญา อายุ 67 ปี ซึ่งเป็นอัมพฤกษ์ บ้านอยู่หมู่ 5 ต.ศาลายา นอนป่วยอยู่คนเดียวภายในบ้าน ซึ่งบ้านถูกน้ำท่วมชั้นล่างจนมิด ต้องหนีขึ้นไปอยู่ข้างบน มีชาวบ้านใกล้เคียงแจ้งให้ทหารเรือทราบ และได้นำเรือท้องแบนไปรับตัวอย่างทุลักทุเล มาไว้ที่ศูนย์พักพิง ม.มหามกุฎราชวิทยาลัย ด้วย
'บางพลัด'วิกฤติ น้ำสูงต่อเนื่อง บางจุดสูงกว่าเมตร
ย่านบางพลัดยังวิกฤติ น้ำยังเพิ่มระดับต่อเนื่อง บางจุดสูงกว่า 1 เมตร ขณะที่ประชาชนบางส่วนยังห่วงข้าวของ ไม่ยอมอพยพออก แต่อาศัยอยู่บนชั้น 2 ของบ้านจำนวนมาก...
เมื่อวันที่ 28 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานถึงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่เขตบางพลัด ว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำมีระดับสูงถึง 1.07 เมตร ในช่วงเช้าเวลาประมาณ 06.00 น. น้ำลงสูงสุดเวลา 15.00 น. ระดับน้ำประมาณ 70 เซนติเมตร และระดับน้ำยังคงเพิ่มปริมาณอย่างต่อเนื่อง กระแสน้ำยังคงไหลแรง จากฝั่งซอยจรัญสนิทวงศ์ 74-80 ข้ามผิวถนนมายังบริเวณซอยจรัญสนิทวงศ์ 79-87 โดยประชาชนในพื้นที่ได้อพยพออกจากพื้นที่เป็นจำนวนมาก แต่ยังคงมีประชาชนบางส่วนอาศัยอยู่บนชั้นสองของบ้าน ส่วนร้านค้าบริเวณใกล้เคียงทยอยปิดไปบ้างแล้ว ยังคงเหลือห้างสรรพสินค้าเทสโก้ โลตัส ที่ยังคงเปิดบริการอยู่ ซึ่งบริเวณชั้น 1 ของห้าง ถูกใช้เป็นศูนย์ประสานงานความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ของกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ และยังคงมีประชาชนเข้ามาจับจ่ายซื้อของเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ สถานการณ์ในพื้นที่ดังกล่าว ยังคงต้องมีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากปริมาณน้ำขึ้นลงตามเวลา ในด้านการจราจร ปริมาณน้ำบนผิวถนนอยู่ในระดับ 0.80-1 เมตร ทำให้รถเล็กไม่สามารถสัญจรได้ ขณะนี้มีเพียงรถขนาดใหญ่ของทหาร และโรงพยาบาลยันฮี ออกช่วยเหลือประชาชนในการสัญจรและขนย้ายข้าวของ ซึ่งการปิดการจราจรเริ่มตั้งแต่บริเวณซอยจรัญสนิทวงศ์ 71 จนถึงบริเวณเชิงสะพานพระราม 7
น้ำเจ้าพระยาสูง สะพานพระปิ่นเกล้า รถสัญจรไม่ได้
กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ แจ้งสภาวะระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณหน้ากองบัญชาการกองทัพเรือ ประจำวันที่ 28 ตุลาคม 2554 ว่าน้ำขึ้น – ลง 2 ครั้ง คาดว่าน้ำลงเต็มที่เวลา 02.16 น. สูงกว่าระดับทะเล ปานกลาง 1.36 เมตร ขึ้นเต็มที่เวลา 08.03 น. สูงกว่าระดับทะเลปานกลาง 2.57 เมตร น้ำลงเต็มที่เวลา 13.35 น. สูงกว่าระดับทะเลปานกลาง 2.17 เมตร และน้ำขึ้นเต็มที่เวลา 17.52 น. สูงกว่าระดับทะเลปานกลาง 2.44 เมตร
ทั้งนี้ จากปริมาณการระบายน้ำในปัจจุบันคาดว่าในช่วงน้ำทะเลหนุนสูงในวันที่ 29 – 31 ตุลาคม 2554 จะสูงกว่าระดับทะเลปานกลางประมาณ 2.60 – 2.65 เมตรอย่างไรก็ตาม มีหลายพื้นที่ที่ระดับน้ำเจ้าพระยาสูงจนล้นท่วม ไม่ว่าจะเป็นฝั่งธนบุรี ที่ระดับน้ำเสมอกับแนวคันกั้นน้ำ ทำให้น้ำเอ่อเข้าท่วมถนนบริเวณใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าไล่มาถึงถนนบรมราชชนนี รถยนต์ไม่สามารถสัญจรข้ามสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าทั้งขาเข้าและขาออกได้ นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า น้ำจากแม่เจ้าพระยาหนุนสูง หน้ามหาวิทยาลัยศิลปากร ทำให้น้ำทะลักเข้ตลาดท่าช้างท่วมสูงประมาณ 50 ซ.ม.
ถนนวิภาวดีรังสิต ขาเข้า และออก ล่าสุด น้ำท่วมถึงคลองหลักสี่ สะพานกลับรถยังใช้การไม่ได้
สถานการณ์น้ำท่วมบน ถ.วิภาวดีรังสิต ทั้งขาเข้าและออกยังคงมีน้ำท่วม จนถึงคลองหลักสี่ สะพานกลับรถใกล้แยกหลักสี่ไม่สามารถใช้การได้ จนต้องทำการปิดถนนตั้งแต่แยกหลักสี่ โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารจากกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ คอยอำนวยความสะดวก
จากการสอบถาม เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร สน.วิภาวดี ทราบว่า ระดับน้ำบน ถ.วิภาฯ ยังคงทรงตัว เพราะบริเวณคลองหลักสี่ มีสถานีสูบน้ำที่ 14 , 15 คอยสูบน้ำจาก ถ.วิภาฯ ลงคลองหลักสี่และประชาชนที่อยู่บริเวณ วัดดอนเมือง วัดไผ่เขียว ส่วนใหญ่ก็ได้ย้ายออกจากพื้นที่แล้ว ขณะที่ วัดหลักสี่ ซึ่งเปิดเป็นศูนย์อพยพ เมื่อคืนที่ผ่านมาก็เริ่มมีน้ำท่วมสูงประมาณ 10 ซ.ม. แต่ประชาชนก็ยังคงอยู่เช่นเดิม วัดพระแก้ว ศาลฎีกา น้ำเอ่อเข้าท่วมแล้ว สถานการณ์น้ำท่วม วันนี้ (28 ต.ค.) น้ำเจ้าพระยาย่านพระนครได้เอ่อเข้าท่วมบริเวณวัดพระแก้ว ขณะหน้าศาลฎีกาสูง 30 ซ.ม. แล้ว จนท. เร่งสูบออกอย่างเร่งด่วน สถานการณ์น้ำท่วมในฝั่งพระนคร ขณะนี้ยังน่าเป็นห่วงหลังจากเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา น้ำทะเลหนุนสูงทำให้พื้นที่ของฝั่งพระนคร น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาได้ทะลักเข้าสู่พื้นผิวถนนและบ้านเรือนของประชาชนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และในขณะนี้ น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาได้แผ่ปกคลุมบนพื้นที่ผิวการจราจรรอบสนามหลวง โดยเฉพาะบริเวณหน้าศาลฎีกา ระดับน้ำสูงถึง 30 ซ.ม. จากพื้นที่ผิวถนน ส่วนพื้นที่โดยรอบวัดพระแก้ว ขณะนี้ เจ้าหน้าที่ได้นำเครื่องสูบน้ำมาสูบน้ำออกอย่างเร่งด่วน โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารดูแลอย่างใกล้ชิด.................................................................................................
อัพเดทน้ำท่วม 27 ตุลาคม 54
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แนะนำ นายก ชวน ผู้นำฝ่ายค้าน ช่วยน้ำท่วม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวภายหลังการหหารือกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นากยกรัฐมนตรี ว่า
สถานการณ์ตอนนี้ต้องดูระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาช่วง 2 – 3 วันนี้ว่าจะมีระดับสูงขนาดไหน และตอนนี้ได้มีการเตรียมแผนอพยพบางส่วน โดยเฉพาะชุมชนที่อยู่ตามแนวคันกั้นน้ำที่เสี่ยงต่อการเอ่อล้นของแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงนี้ถือว่ามีความจำเป็นที่ต้องอพยพออกให้เร็วที่สุด
อย่างไรก็ตามคงเป็นไปไม่ได้ที่จะอพยพคน กทม.เกือบทั้งหมดออกจากพื้นที่ แต่จะดำเนินการเฉพาะในส่วนที่จำเป็นว่า ถ้าผู้ที่ไม่อพยพจะมีระบบการช่วยเหลืออย่างไรในการดำรงชีวิต ที่กองทัพจะเข้าไปทำหน้าที่ในส่วนนี้ให้
ทั้งนี้ ตอนนี้มีหลายแนวทางที่เสนอมาที่รัฐบาลในการร่วมกันแก้ไขปัญหา ซึ่งคาดว่าเร็ว ๆ นี้นายกฯ จะเชิญนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน และ กทม.เข้ามาหารือ ดีกว่าต่างคนต่างทำงาน เพราะเวลานี้การร่วมมือกันทำงานถือว่ามีความสำคัญมากที่สุด และกองทัพพร้อมที่จะให้การช่วยเหลือด้านกำลังคน และยุทโธปกรณ์อย่างเต็มที่
นอกจากนี้ก็มองว่า การป้องกันหากทำได้เท่าไรก็ทำเท่านั้น ส่วนไหนป้องกันก็ทำ ส่วนไหนทำไม่ได้ก็ปล่อยไป แล้วค่อยหาวิธีการช่วยเหลือในภายหลังแต่ตอนนี้สิ่งที่กำลังทำอยู่คือการเร่งระบายน้ำออกทางตะวันออกให้มากกว่าเดิม เพราะเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการบรรเทาความเดือนร้อนให้กับ กทม. และตอนนี้ท่านนายกฯได้มีการพูดถึงแผยฟื้นฟูหลังน้ำลด เพื่อช่วยเหลือประชาชนว่า จะให้กลับมามีรายได้และประกอบอาชีพได้อย่างไร
ผู้ว่าฯ กทม.สั่งปชช.เขตสายไหมอพยพในเที่ยงนี้
ผู้ว่ากรุงเทพมหานครสั่งเขตสายไหมอพยพด่วนภายในเที่ยงวันนี้ เพื่อความปลอดภัยของประชาชน
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร กล่าวถึงสถานณ์อุทกภัยว่า จากการตรวจวัดปริมาณน้ำในคลองสองพบว่ามีระดับพบเพิ่มขึ้น 16 เซนติเมตรส่งผลให้น้ำในคลองระดับน้ำสูงเป็น 2.64 เมตร ส่วนคลองทวีวัฒนามีระดับน้ำเพิ่มขึ้นอีก 20 เซนติเมตร ส่งผลให้น้ำในคลองทวีวัฒนามีระดับสูง 2.38 เมตร ซึ่งเห็นได้ว่าน้ำเหนือได้ไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยาจำนวนในมาก และขณะนี้พื้นที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ เขตบางพลัด เขตดอนมือง เขตสายไหม และ เขตทวีวัฒนา ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยของประชาชน กทม.จึงขอประกาศให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขต สายไหม รีบอพยพด่วนภายในเที่ยงวันนี้
นายกฯ ยันไม่ย้าย ศปภ.ไปอยู่สโมสรทหารบกพร้อมยอมรับขณะนี้ กทม.เข้าขั้นวิกฤติ
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ระบุว่ากรณีที่ท่าอากาศดอนเมืองไฟดับนั้น เกิดจากหม้อแปลงระเบิดซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่ยังสามารถใช้ไฟสำรองได้อยู่ โดยยืนยันยังจะไม่มีการย้ายศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยอย่างแน่นอน เพราะได้มีการติดตั้งระบบการทำงานไว้เรียบร้อยแล้ว จึงไม่อยากให้การทำงานของเจ้าหน้าที่ติดขัด แต่หากย้ายจริงจะต้องย้ายจุดพักพิงผู้อพยพในอาคาร 2 ก่อน ส่วนที่มีการเสนอจะย้ายศูนย์ศปภ.ไปอยู่ที่สโมสรทหารบกนั้น นายกรัฐมนตรีระบุว่าไม่ต่างกัน เพราะเป็นเส้นทางที่จะกระทบเหมือนกัน และที่ดอนเมืองมีความสะดวกในเรื่องของการเดินทางและมีความเหมาะสมอยู่แล้ว ทั้งนี้จะไม่มีการย้ายศูนย์ไปยังจังหวัดชลบุรีเพราะจะเป็นจุดของผู้อพยพ ส่วนการทำงานจะอยู่ในกรุงเทพฯเท่านั้น
นายกรัฐมนตรียังยอมรับว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ในขั้นวิกฤติจริง เพราะเป็นการไปฝืนธรรมชาติที่ไปสร้างแนวกั้นน้ำต่างๆที่ทะลักเข้ามาในจำนวนมหาศาล รวมถึงยังเจอกับประชาชนที่มีความพยายามในการทำลายแนวกระสอบทรายอีก จึงอยากให้ประชาชนเข้าใจว่ามีบางส่วนที่ต้องระทบบ้างแต่เพื่อเป็นการป้องกันพื้นที่ส่วนมาก พร้อมยืนยันไม่ปล่อยน้ำให้ไหลทะลักเข้ากรุงเทพอย่างเป็นธรรมชาติ แต่จะชะลอให้น้ำระบายไปตามลำคลองต่างๆที่เตรียมการเอาไว้เพื่อลงสู่ทะเล แต่อาจมีกระทบกับบางพื้นที่บ้าง โดยจะท่วมไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับความสูงของแต่ละพื้นที่
ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีของความเห็นใจเพราะศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยเป็นศูนย์เดียว และเจ้าหน้าที่มีจำกัดและเป็นผู้ประสบภัยด้วย การทำงานและความเรียบร้อยต่างๆอาจจะไม่ดีบ้าง การสื่อสารอาจไม่ตรงกันบ้าง แต่ยังสามารถทำงานได้อย่างรวดเร็วและบูรณาการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน และอาจจะมีความเห็นไม่ตรงกันบ้างซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา โดยต่อจากนี้จะกอบกู้กำลังใจของเจ้าหน้าที่ให้กลับมาให้ได้
ส่วนการที่จะใช้ถนนวิภาวดี-รังสิตเป็นที่ระบายน้ำนั้นมีแนวโน้มเป็นไปได้ เพราะทางกรุงเทพมหานครได้มีการประชุมกันในเรื่องนี้ รวมถึงนักวิชาการต่างๆได้เสนอความคิดเห็นมา โดยจะนำเรื่องนี้ไปพูดคุยกันก่อน
นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีระบุว่ารัฐบาลมีเจตนาดีในการทำงาน ไม่เสียใจหรือร้องไห้กับการทำงาน เพราะเราต้องเข้มแข็งยิ้มรับอย่างไม่ท้อถอย อย่างไรก็ตามาตราการมหลังจากนี้รัฐบาลจะเร่งฟื้นฟูหลังน้ำลดอย่างเต็มที่ รวมถึงมาตราการในการป้องกันกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
น้ำประชิดเมือง หลักสี่อ่วม! ห้ามรถผ่านวิภาวดีขาออก
รายงานสถานการณ์น้ำท่วมจากบริเวณหลักสี่ ถนนวิภาวดีรังสิตฯ ว่า ระดับน้ำยังคงทรงตัวและเพิ่มขึ้นบางพื้นที่ ซึ่งน้ำได้ไหลมาถึงคลองวัดหลักสี่ ห่างจากด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษ หรือด่านโทลเวย์หลักสี่ประมาณ 200 เมตร ทำให้ต้องปิดเส้นทางการจราจรในถนนวิภาวดีรังสิตฝั่งขาออก ตั้งแต่หน้าด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษหลักสี่ โดยมีเจ้าหน้าที่ทหาร คอยยืนอำนวยความสะดวกเพื่อให้กลับรถไปใช้ทางดินแดงแทน
ทั้งนี้ เนื่องจากมีน้ำท่วมสูงประมาณ 50 – 60 เซนติเมตร และรถเล็กไม่สามารถผ่านได้ ส่วนถนนวิภาวดีรังสิตฝั่งขาเข้า มีการปิดเส้นทางการจราจรเช่นกัน แต่ยังคงมีรถประจำทางบางสาย ที่ต้องบรรเทาความเดือดร้อนประชาชน จึงต้องวิ่งสวนเลนขึ้นไปส่งผู้โดยสารและสิ้นสุดเท่าที่ผ่านได้เท่านั้น
คันกั้นน้ำทางทิศเหนือของท่าอากาศยานดอนเมืองแตก น้ำทะลักเข้าท่วมบริเวณหม้อแปลงไฟฟ้า และลานจอดรถ เจ้าหน้าที่เร่งตัดไฟและสูบน้ำออก เนื่องจากยังมีผู้ประสบภัยพักพิงอยู่จำนวนหนึ่ง ขณะที่ 'โทลล์เวย์ ' เปิดให้ใช้ฟรี ถึงวันที่ 5 พ.ย.นี้...
วันที่ 27 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานจากศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ว่า เมื่อเวลา 04.00 น. ที่่ผ่านมา คันกั้นน้ำทางทิศเหนือของท่าอากาศยานดอนเมืองแตกและพังลง ส่งผลให้น้ำทะลักเข้าท่วมบริเวณหม้อแปลงไฟฟ้า และลานจอดรถทางด้านทิศเหนือ เจ้าหน้าที่จึงจำเป็นต้องตัดไฟ ทำให้บางจุดไม่สามารถใช้ไฟฟ้าได้ ขณะที่เจ้าหน้าที่ยังคงเร่งสูบน้ำออกจากพื้นที่ท่าอากาศยานดอนเมืองอย่างเร่งด่วน เนื่องจากที่อาคารผู้โดยสาร 2 ของท่าอากาศยานดอนเมือง ยังคงมีผู้ประสบภัยพักพิงอยู่จำนวนหนึ่ง
ส่วนระดับน้ำที่บริเวณถนนวิภาวดีรังสิต หน้าท่าอากาศยานดอนเมือง เช้าวันนี้ระดับน้ำได้เพิ่มขึ้นบ้าง ขณะที่ บริษัท ทางยกระดับ ดอนเมือง จำกัด (มหาชน) หรือทางด่วนโทลล์เวย์ ได้ยกเลิกการจัดเก็บค่าผ่านทางด่วนโทลล์เวย์ ตั้งแต่เวลา 06.00 น. วันที่ 27 ต.ค. ไปจนถึงเวลา 24.00 น. วันที่ 5 พ.ย. เพื่อแบ่งเบาภาระของประชาชน ประกอบกับพื้นที่ด้านล่างถนนวิภาวดีรังสิต มีน้ำท่วมเข้ามาถึงแยกหลักสี่แล้ว ซึ่งการเปิดโทลล์เวย์ฟรี จะทำให้ประชาชนสามารถใช้ทางด่วนไปลงรังสิตได้ เพราะในเวลาอันใกล้นี้ ทางกรมทางหลวงจะเร่งกู้ถนนพหลโยธิน ช่วงบางปะอิน-วังน้อย เพื่อให้ประชาชนสามารถสัญจรไปภาคอีสานได้.
น้ำเอ่อท่วม หน้าวัดพระแก้ว
วานนี้(26 ตุลาคม) เมื่อช่วงเย็นน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาหนุนสูง ทำให้น้ำได้ไหลเอ่อล้นท่อระบายน้ำ จนไหลท่วมบริเวณถนนหน้าพระลาน หน้าพระบรมมหาราชวัง หน้าวัดพระแก้ว รวมถึงถนนโดยรอบริมฟั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
ล่าสุด 08.52น. วันนี้ ถ.หน้าพระลาน ตลอดเส้นทาง มีน้ำท่วมผิวจราจร รถเล็กยังผ่านได้
ศปภ.ประกาศ คันน้ำทิศเหนือดอนเมืองแตกน้ำสูง
เมื่อสักครู่ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้ประชาสัมพันธ์ว่า พนังกั้นน้ำบริเวณทางทิศเหนือของท่าอากาศยานดอนเมืองแตก ทำให้น้ำทะลักท่วมลานจอดรถ และระดับน้ำได้เพิ่มความสูงจนเป็นอันตรายต่อหม้อแปลงไฟฟ้า ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องตัดไฟ เพื่อแก้ไขยกหม้อแปลงขึ้นก่อนจ่ายไฟฟ้าอีกครั้ง
สำหรับบรรยากาศทั่วไปที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ซึ่งขณะนี้ เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานและกระทรวงต่างๆ เริ่มทยอยเดินทางมาบ้างแล้ว แต่วันนี้ค่อนข้างเงียบเหงา เนื่องจากท่าอากาศยานดอนเมือง มีน้ำท่วมขังสูง รถเล็กผ่านไปมาได้ไม่สะดวก
อัพเดทน้ำท่วม 26 ตุลาคม 54
ประกาศแจ้งเตือนสถานการณ์อุทกภัยกรุงเทพมหานคร ฉบับที่ 6/2554
โดย The Bangkok Governor เมื่อ 26 ตุลาคม 2011 เวลา 20:17 น.
ประกาศกรุงเทพมหานคร
เรื่อง แจ้งเตือนสถานการณ์อุทกภัยกรุงเทพมหานคร ฉบับที่ 6/2554
ตามที่ได้มีประกาศแจ้งเตือนสถานการณ์อุทกภัยกรุงเทพมหานครในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร มาตามลำดับนั้น
เนื่องจากขณะนี้ปรากฏว่าน้ำเหนือได้ไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่องด้วยความเร็วและมีปริมาณจำนวนมากประกอบกับน้ำทะเลหนุนในระดับที่มากกว่าปกติ ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีระดับสูงขึ้นมากกว่าปกติ และอาจจะเอ่อท่วมพื้นที่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยากรุงเทพมหานคร จึงขอแจ้งให้ประชาชนทราบและขอแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่อยู่ทั้งนอกและในแนวคันกั้นน้ำ และเพื่อความปลอดภัย ขอให้ขนย้ายสิ่งของ ทรัพย์สินมีค่า รถยนต์ ปลั๊กไฟฟ้า เป็นต้น ขึ้นที่สูง และพิจารณาตัดสินใจเคลื่อนย้ายไปพักอาศัยบริเวณที่ปลอดภัยจากน้ำท่วม โดยเฉพาะไปยังศูนย์พักพิงที่กรุงเทพมหานครจัดไว้ สถานที่พักอาศัยของญาติ หรือของสถานที่ที่หน่วยงานอื่นของรัฐหรือภาคเอกชนได้จัดไว้ และขอให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์จากข่าวสารของกรุงเทพมหานครและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครขอให้ประชาชนมั่นใจว่ากรุงเทพมหานครได้ทำหน้าที่ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานครอย่างสุดความสามารถ และในกรณีที่อาจเกิดอันตรายอย่างร้ายแรงก็ได้มีแผนการอพยพและช่วยเหลือประชาชนไว้แล้ว โดยสามารถเปิดดูได้ที่เว็บไซต์ bangkok.go.th หรือสอบถามได้ที่สำนักงานเขต หรือศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจและแก้ไขปัญหาอุทกภัยกรุงเทพมหานคร ประจำปี พ.ศ.2554
ศูนย์พักพิงชั่วคราว เขตบางพลัด รับได้ทั้งหมด 550 คน ได้แก่
ร.ร.วัดฉัตรแก้วจงกลณี 0-2424-3321 , 089-498-7085 รับได้ 50 คน
ร.ร.วัดสามัคคีสุทธาวาส 0-2424-0200 , 086-392-8899 รับได้ 50 คน
ร.ร.วัดบางพลัด (ป.สุวณโณ) 0-2434-3268 , 081-930-8824 รับได้ 50 คน
ร.ร.วัดเทพากร 0-2424-4089 , 089-990-0641 รับได้ 50 คน
ร.ร.วัดรวก 0-2424-2461 , 081-685-3834 รับได้ 50 คน
ร.ร.วัดคฤหบดี 0-2424-4046 , 087-980-1551 รับได้ 50 คน
ร.ร.วัดพระยาศิริไอยสวรรค์ 0-2424-0417 , 086-991-6020 รับได้ 50 คน
ร.ร.บางยี่ขันวิทยาคม 0-2424-1208 , 081-825-3733 รับได้ 50 คน
ร.ร.วัดเปาโรหิตย์ 0-2424-1374 , 081-401-4072 รับได้ 50 คน
ร.ร.วัดวิมุตยาราม 0-2424-1025 , 081-804-7422 รับได้ 50 คน
ร.ร.วัดอาวุธวิกสิตาราม 0-2424-1249 , 089-141-3448 รับได้ 50 คน
ศูนย์พักพิงชั่วคราว เขตดอนเมือง รับได้ทั้งหมด 2,000 คน
ร.ร.วัดดอนเมือง 0-2566-2862 , 081-869-3464 รับได้ 500 คน
ร.ร.ประชาอุทิศ 0-2929-2172 , 084-427-3676 รับได้ 800 คน
ร.ร.บำรุงรวิวรรณวิทยา 0-2536-2196 , 084-459-4774 รับได้ 500 คน
ร.ร.เปรมประชา 0-2573-4956 , 081-692-0232 รับได้ 200 คน
ผู้เชี่ยวชาญดัตช์ชี้กรุงเทพฯสุดเสี่ยงจมบาดาล รบ.ยุ่นเตือนเลี่ยงมาเยือน
อาดรี เฟอร์เวย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการน้ำจากเนเธอร์แลนด์ระบุ ปัญหาใหญ่ที่น่าหนักใจที่สุดของทางการไทยในการรับมือน้ำท่วมกรุงเทพฯเวลานี้ คือ คันกั้นน้ำที่มีอยู่อาจไม่แข็งแกร่งเพียงพอและอาจพังลง ซึ่งอาจทำให้เกิดความโกลาหลครั้งใหญ่ เพราะแม้แต่ย่านธุรกิจใจกลางเมืองของกรุงเทพฯ อย่างสุขุมวิท ก็ต้องจมอยู่ใต้น้ำ ขณะที่สถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเคของญี่ปุ่นรายงานว่า กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นได้เพิ่มระดับเตือนภัยเป็น "ระดับ 3" แก่ชาวญี่ปุ่นให้หลีกเลี่ยงการเดินทางเยือนกรุงเทพมหานคร ส่งผลให้บริษัททัวร์ชั้นนำของญี่ปุ่นยกเลิกโปรแกรมทัวร์เมืองหลวงของไทย...
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 26 ต.ค. โดยอ้างอาดรี เฟอร์เวย์ นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการทรัพยากรน้ำชื่อดังจากเนเธอร์แลนด์ ที่ออกมาระบุว่า กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของไทย ซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นกว่า 10 ล้านคน กำลังเผชิญบททดสอบครั้งใหญ่ในการรับมือกับเหตุน้ำท่วมครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบครึ่งศตวรรษ พร้อมชี้กรุงเทพฯจะจมบาดาลหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความแข็งแกร่งของคันกั้นน้ำว่าจะสามารถต้านทานมวลน้ำจำนวนมหาศาลกว่า 4,000 ล้านลูกบาศก์เมตรที่ไหลทะลักมาจากพื้นที่ตอนเหนือของประเทศได้หรือไม่
เฟอร์เวย์ ซึ่งเป็นผู้แทนจากสถาบันวิจัย "Deltares" ของเนเธอร์แลนด์ ได้เดินทางมายังประเทศไทยเพื่อให้คำแนะนำแก่รัฐบาลภายใต้การนำของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ออกมาเปิดเผยว่า ความพยายามในการป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ ขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญคือ "ความแข็งแกร่งของคันกั้นน้ำ" ตามจุดต่างๆ ว่าจะมีศักยภาพในการรับมือกับมวลน้ำจำนวนมหาศาลที่ไหลมาจากตอนบนของประเทศได้หรือไม่
เฟอร์เวย์ ยังชี้ว่า ปัญหาใหญ่ที่น่าหนักใจที่สุดของทางการไทยในเวลานี้ คือ การที่คันกั้นน้ำโดยรอบกรุงเทพฯ ยังไม่เคยต้องรับมือกับมวลน้ำที่มีปริมาณมากเช่นนี้มาก่อน และคันกั้นน้ำที่มีอยู่อาจไม่แข็งแกร่งเพียงพอและอาจพังลง ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นย่อมทำให้เกิดความโกลาหลครั้งใหญ่ เพราะแม้แต่ย่านธุรกิจใจกลางเมืองของกรุงเทพฯ อย่างสุขุมวิท ก็อาจต้องจมอยู่ใต้น้ำ
เฟอร์เวย์ คนกลาง
"การออกคำสั่งอพยพในมหานครที่มีประชากรอาศัยอยู่กว่า 10 ล้านคนอย่างกรุงเทพฯ ถือเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะหากเป็นเช่นนั้นจะเกิดความโกลาหลครั้งใหญ่ตามมา" เฟอร์เวย์ กล่าวเสริมขณะที่สถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเคของญี่ปุ่นรายงานว่า กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นได้เพิ่มระดับเตือนภัยเป็น "ระดับ 3" แก่ชาวญี่ปุ่นให้เพิ่มความระมัดระวังหรือหลีกเลี่ยงการเดินทางเยือนกรุงเทพมหานคร หลังจากที่เมืองหลวงของไทยเริ่มถูกน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ส่งผลให้บริษัททัวร์ชั้นนำของญี่ปุ่นอย่างน้อย 3 แห่ง คีือ เจทีบี, นิปปอน ทราเวล เอเจนซี และกิงกิ นิปปอน ทัวริสต์ ประกาศยกเลิกโปรแกรมท่องเที่ยวในประเทศไทยจนถึงวันที่ 15 พ.ย.เป็นอย่างน้อย ขณะที่บริษัท ฮันเกียว ทราเวล ประกาศยกเลิกโปรแกรมท่องเที่ยวในไทยจนถึง 30 พ.ย.
ในอีกด้านหนึ่ง อบาห์ โอฟอน นักวิเคราะห์ด้านสินค้าโภคภัณฑ์จาก "สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด" ประจำสิงคโปร์ ออกมาให้ความเห็นว่า แม้ภัยพิบัติครั้งใหญ่นี้จะส่งผลให้ผลผลิตข้าวของไทยได้รับความเสียหายและมีปริมาณลดลงมากถึงร้อยละ 14 แต่ประเทศไทยซึ่งมีสถานะเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลกก็ยังมีศักยภาพมากพอที่จะเพิ่มผลผลิตข้าวได้ถึง 11 ล้านตันในปีนี้ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าการประเมินของผู้เชี่ยวชาญถึงกว่า 500,000 ตัน
ทั้งนี้ สื่อต่างประเทศหลายสำนักรายงานว่า เหตุน้ำท่วมครั้งใหญ่ในไทยได้ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 370 ราย ส่วนอีกมากกว่า 100,000 คนต้องกลายเป็นผู้อพยพไปพักพิงอยู่ตามศูนย์ช่วยเหลือต่างๆ ขณะที่โรงงานอุตสาหกรรมราว 9,850 แห่งในพื้นที่ 8 จังหวัดสำคัญ ซึ่งจ้างแรงงานชาวไทยไว้กว่า 660,000 คนต่างได้รับความเสียหายจนต้องปิดกิจการชั่วคราว.
รันเวย์ท่าอากาศยานดอนเมือง ขยายวงกว้างกินพื้นที่รันเวย์เกือบ 90%
น้ำที่ไหลมาจากด้านเหนือของสนามบินจนทะลักท่วมรันเวย์ท่าอากาศยานดอนเมือง ขยายวงกว้างกินพื้นที่รันเวย์เกือบ 90% และท่วมไปจนถึงคลังสินค้า แต่ยังไม่กระทบศูนย์กระจายสินค้าของ ศปภ.
ความแรงของน้ำที่ขึ้นมาทางท่อระบายน้ำ ทำให้คาดการณ์ได้ว่าอีกไม่นานจะท่วมเต็มพื้นที่รันเวย์ทั้งหมด ขณะที่เครื่องบินพาณิชย์ขนาดใหญ่และกลาง ยังจอดทิ้งอยู่กว่า 10 ลำ ส่วนอุปกรณ์ทางการบินอื่น ๆ เจ้าหน้าที่ขนย้ายออกนอกพื้นที่หมดแล้วส่วนบริเวณชั้น 1 ท่าอากาศยานดอนเมือง ขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้ขนย้ายสิ่งของไปยังสนามศุภชลาศัย พร้อมกับนำกระสอบทรายมาวางบริเวณประตูห้องเครื่องปรับอากาศ ซึ่งเป็นระบบควบคุมทั้งอาคารของ ศปภ.
เพนตากอนห่วงน้ำท่วมไทย-ชมรัฐบาลรับมือรวดเร็ว
แม้กองทัพสหรัฐฯ จะถอนเรือรบ “ยูเอสเอส จอร์จ วอชิงตัน” ออกจากทะเลไทยแล้ว แต่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯยังพร้อมให้ความช่วยเหลือวกฤติน้ำท่วม พร้อมชมรัฐบาลไทยรับมือสถานการณ์รับมือภัยพิบัติได้รวดเร็ว...
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานเมื่อวันที่ 25 ต.ค. ว่า กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯหรือเพนตากอน แถลงชื่นชมรัฐบาลไทยกรณีรับมือภาวะน้ำท่วมใหญ่และว่าสหรัฐฯพร้อมช่วยเหลือ ถ้าจำเป็น โดยนายจอร์จ ลิทเทิล โฆษกเพนตากอน ระบุในแถลงการณ์ว่านายลีออน พาเนตตา รมว.กลาโหมสหรัฐฯกำลังตรวจสอบสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และชื่นชมรัฐบาลไทย ที่รับมือภัยพิบัติน้ำท่วมอย่างรวดเร็ว ในฐานะที่ไทยเป็นพันธมิตรใกล้ชิด สหรัฐฯจะทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ไทยต่อเนื่อง เพื่อประเมินว่าอาจต้องการความช่วยเหลืออะไรจากสหรัฐฯบ้าง
แถลงการณ์ของเพนตากอน ระบุด้วยว่าก่อนหน้านี้ นายพาเนตตา ซึ่งอยู่ระหว่างเยือนญี่ปุ่น ได้แสดงความวิตกเกี่ยวกับภาวะน้ำท่วมในไทยตลอดช่วงภารกิจการเยือนภูมิภาค เอเชีย-แปซิฟิกที่ผ่านมา พร้อมแสดงความเสียใจต่อผู้ประสบภัยน้ำท่วมทุกคน ข่าวระบุต่อไปว่า แถลงการณ์ของเพนตากอนมีขึ้นท่ามกลางคำถามถึงวิธีการรับมือ วิกฤติน้ำท่วมของรัฐบาลไทยหลังปฏิเสธการเสนอช่วยเหลือจากกองทัพเรือสหรัฐฯ ที่จะส่งเรือบรรทุกเครื่องบิน “ยูเอสเอส จอร์จ วอชิงตัน” และเรือรบอีก 3 ลำ ช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ แต่เมื่อไม่มีคำร้องขออย่างเป็นทางการ เรือเหล่านี้จึงแล่นไปเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา มุ่งหน้าไปยังญี่ปุ่นเพื่อภารกิจฝึกซ้อมประจำปี ด้านเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯคนหนึ่งเผยที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.ของสหรัฐฯเมื่อวันจันทร์ที่ 24 ต.ค.ว่า สหรัฐฯได้รับข้อมูลจากไทยแบบ "ผสมปนเป" เกี่ยวกับความช่วยเหลือของสหรัฐฯ กระทั่งจบลงตรงที่ไม่มีการร้องขอออกมาอย่างเป็นทางการ.
อพยพหนีกลางดึกสารเคมีรั่วปนน้ำท่วมย่านติวานนท์เจ็บ4
25 ครัวเรือนย่านสะพานนวลฉวี อพยพกลางดึกอลหม่าน หลังคันกั้นน้ำใต้สะพานพัง น้ำทะลักหอบสารพิษจากโรงงานใกล้เคียงปนมาด้วย ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 4 ราย...
เมื่อเวลา 02.10 น.วันที่ 26 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเกิดเหตุสารเคมีรั่วไหลปะปนมากับน้ำที่ท่วมโรงงานย่านถนนติวานนท์ใกล้สะพานนวลฉวี จนเป็นเหตุให้มีผู้รับบาดเจ็บจากการสูดดมสารพิษ จากการสอบถามไปยังเจ้าหน้าที่อาสาสมัครมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ทราบว่าก่อนเหตุ คันกั้นน้ำบริเวณใต้สะพานนวลฉวีพังทลายลงมาบางส่วนจนเป็นเหตุให้น้ำไหลทะลักเข้ามาในพื้นที่ และท่วมถึงโรงงานใกล้เคียงที่เกิดเหตุ จากนั้นไม่นานก็มีกลิ่นสารพิษโชยออกมาคลุ้งทั่วบริเวณ จนทำให้ชาวบ้านใกล้เคียงได้รับบาดเจ็บจากการสูดดมสารพิษ 3 ราย ซึ่งได้นำตัวส่งศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุฯ (โรงพยาบาลชลประทาน)เรียบร้อยแล้ว ส่วนพื้นที่ดังกล่าวนั้นทราบว่ามีบ้านเรือนประชาชนอยู่ราว 25 หลังคาเรือน ซึ่งได้มีการอพยพออกนอกพื้นที่ดังกล่าวแล้วเช่นเดียวกัน ขณะที่กลิ่นสารเคมีได้เจือจางลงจากเดิมบ้างแล้ว
ขณะที่ทางด้านศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุฯ หรือโรงพยาบาลชลประทานนั้น เจ้าหน้าที่แจ้งว่า ได้รับตัวผู้ป่วยจากเหตุสูดดมสารพิษทั้งสิ้น 4 ราย รายแรกเป็นชายชื่อ นายต้น ไม่ทราบนามสกุล อาการไม่สาหัส แต่แพทย์ให้พักรักษาตัวต่อในโรงพยาบาลเพื่อดูอาการก่อน รายที่ 2 เป็นหญิง ชื่อ น.ส.ปิยะภรณ์ กล่ำน้อย อายุ 45ปี อาการสาหัส แพทย์ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ รายที่ 3 นางสำฤิทธิ์ กล่ำน้อย อายุ 79 ปี แพทย์ให้พักรักษาตัวเพื่อดูอาการ และรายสุดท้ายเป็นเด็กชาย ชื่อ ด.ช.นันทศักดิ์ แตงทอง อายุ 7 ปี ยังอยู่ในอาการซึม แพทย์ให้พักรักษาตัวเพื่อสังเกตอาการต่อเช่นเดียวกัน
น้ำจ่อแยกหลักสี่ หัวขบวนหน้าบินไทย รถเล็กผ่านลำบาก
น้ำท่วมขยายวงไม่หยุด โดยเส้นถนนวิภาวดีฯ หัวน้ำถึงหน้าสำนักงาน บริษัท การบินไทย หลักสี่ ทางคู่ขนานรถเล็กผ่านลำบาก ส่วนฝั่งถนนพหลฯ น้ำท่วมถึงหน้าห้างบิ๊กซีสะพานใหม่แล้ว ขณะที่แยกบางพลัดยังท่วมสูง...
เมื่อเช้าวันที่ 26 ต.ค. มีรายงานสถานการณ์น้ำในเขตกรุงเทพฯ ว่า สืบเนื่องจากน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นสูงเมื่อเวลา 06.13 น. ทำให้มีน้ำเอ่อและทะลักออกจากท่อระบายน้ำท่วมถนนหลายจุดบริเวณเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะฝั่งธนฯ ซึ่งบริเวณแยกบางพลัด ถนนจรัญสนิทวงศ์ ระดับน้ำยังท่วมสูง เช่นเดียวกับบริเวณชุมชนโดยรอบ ส่วนถนนอรุณอมรินทร์ปิดการจราจรทั้งเข้าและขาออก เนื่องจากมีน้ำท่วม
สำหรับสภาพน้ำท่วมย่านสนามบินดอนเมืองนั้น น้ำได้ท่วมขยายวงออกไปยังพื้นที่รอบๆ โดยน้ำที่มาจากย่านอนุสรณ์สถานและจากท่อระบายน้ำได้เอ่อท่วมถนนพหลโยธินทั้ง 2 ฝั่งถึงบริเวณหน้าบิ๊กซีสะพานใหม่ส่วนฝั่งถนนวิภาวดีรังสิตหัวน้ำท่วมถึงบริเวณหน้าสำนักงานบริษัท การบินไทย หลักสี่ โดยช่องทางคู่ขนานทั้งฝั่งขาเข้าและขาออกรถเล็กผ่านลำบาก ขณะที่ช่องทางด่วนน้ำเร่ิมเพิ่มระดับเรื่อยๆ
......................................................................................................................
บทความที่เกี่ยวข้องกับข่าวน้ำท่วม
ขอบคุณข้อมูลจากครอบครัวข่าว3,ไทยรัฐออนไลน์, Mthai.com, kapook.com,sanook.com